ข้อมูลโมร็อกโก และข้อมูลความสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก

ข้อมูลโมร็อกโก และข้อมูลความสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,836 view

ราชอาณาจักรโมร็อกโก

Kingdom of Morocco

 

ข้อมูลทั่วไป

สภาพภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศ                        

ราชอาณาจักรโมร็อกโกตั้งอยู่ในด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา

ทิศเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีชายแดนติดกับเมือง Ceuta และเมือง Melilla ของสเปน

ทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศใต้ติดสาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย และทิศตะวันออกติดสาธารณรัฐแอลจีเรีย

ลักษณะภูมิประเทศมีความหลากหลาย เป็นที่ตั้งของเทือกเขาที่สูงเป็นอันดับสองของแอฟริกา คือเทือกเขาแอตลาส (Atlas) และมีพื้นที่ครอบคลุมทะเลทรายซาฮาราบางส่วน ภูมิอากาศบริเวณชายฝั่งทะเลมีอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน แต่ทางตอนในของประเทศมีอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย

ขนาดพื้นที่ประเทศ 446,500 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม 300,690 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เขตเมือง 12,057.441 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่เขตชนบท 659,759.438 ตารางกิโลเมตร (ปี 2561)

เมืองหลวง คือ กรุงราบัต

ภาษา                                                  

ตามรัฐธรรมนูญของโมร็อกโกภาษาราชการมี 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาอาหรับ และภาษาทามาซิก (Tamazight)  โดยมีภาษาอาหรับท้องถิ่น หรือดารีจา (Darija) เป็นภาษาพูดที่ใช้อย่างกว้างขวาง ส่วนภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาต่างประเทศซึ่งถือเป็นภาษาที่สองของชาวโมร็อกโกซึ่งสามารถใช้ในการติดต่อธุรกิจและหน่วยงานราชการได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาพูดอย่างกว้างขวางในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศอีกด้วย

ศาสนา                                                

ศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 99  ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ศาสนายูดาห์ และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 1

สกุลเงิน

ดีร์ฮาม (อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ 1 ดีร์ฮาม เท่ากับ 3.50 บาท)

ประชากร                                            

37.13 ล้านคน (มกราคม 2564) ร้อยละ 50.4 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 49.6 เป็นเพศชาย โดยประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 63.8 อาศัยอยู่ในเขตเมือง และร้อยละ 36.2 อาศัยอยู่ในเขตชนบท

ดัชนีเกี่ยวกับประชากรที่สำคัญ

อายุขัยเฉลี่ยประชากร (Life expectancy, at birth) 76.68 ปี (ปี 2562)

อัตราการรู้หนังสือ ประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 15 ปี)  ร้อยละ 73.75 (ปี 2561)

อัตราความยากจน (poverty rate) ร้อยละ 45.1 (ปี 2557 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 41.8 ในปี 2550)

ดัชนีวัดความเป็นอยู่ที่ดีของสตรี (Women, Peace and Security Index) 0.625 อันดับที่ 133 จาก 167 ประเทศ (ปี 2562)

ดัชนีการดูแลสุขภาพประชากร (Health Care Index) 45.81 อันดับที่ 88 จาก 93 ประเทศ (ปี 2564)

การเมืองการปกครอง                         

ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 (Mohammed VI) (เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552)
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายซาอาด ดิน เอล ออทมานี (Mr. Saad Dine El Otmani) (ได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560)        

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน คือ นายนัสเซอร์ บูริตะ (Mr. Nasser Bourita) (ได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560)

โมร็อกโกจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2564 ซึ่งพรรคการเมืองในโมร็อกโกมีจำนวนหลายพรรคมาตั้งแต่ได้รับเอกสารจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2499 โดยมีอุดมการณ์ตั้งแต่กลุ่มซ้ายจัดไปจนถึงกลุ่มอิสลามนิยม ในปัจจุบัน สามารถแบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่         

  1. พรรครัฐบาล ได้แก่
  • Justice and Development Party
  • Constitutional Union
  • National Rally of Independents
  • Popular Movement
  • Socialist Union of Popular Forces
  1. พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่
  • Authenticity and Modernity Party
  • Istiqlal Party
  • Party of Progress and Socialism

 

  1. พรรคอื่น ๆ ได้แก่

Action Party, Al-Badil al-Hadari Party, Al-Ahd, Citizens' Forces, Democratic and Social Movement, Democratic Independence Party, Democratic Socialist Party, Democratic Union, Democratic Way, Front of Democratic Forces, Koutla, Labour Party, Moroccan Liberal Party, Moroccan Union for Democracy, National Ittihadi Congress, Party of Hope, Party of Liberty and Social Justice, Party of Renaissance and Virtue, Party of Renewal and Equity, Reform and Development Party, Social Centre Party, Socialist Democratic Vanguard Party, National Popular Movement, Unified Socialist Party, Template:Moroccan political parties

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโมร็อกโก

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โมร็อกโกได้ออกแผนพัฒนาฉบับใหม่ (New Development Model) โดยมีวิสัยทัศน์ให้โมร็อกโกเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่ง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความยั่งยืน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยแนวทางการดำเนินการแบ่งเป็น 5 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวเร่งการพัฒนา (2) การปรับคุณภาพการให้บริการภาครัฐ (3) การจัดสรรทรัพยากรรวมทั้งงบประมาณให้เพียงพอในการพัฒนา (4) การมีส่วนร่วมของชาวโมร็อกโก รวมทั้งชาวโมร็อกโกที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และ (5) การส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และกลุ่มประเทศอาหรับ (GCC) โดยเป้าหมายหลักที่โมร็อกโกพยายามจะบรรลุภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035) อาทิ การเพิ่มรายได้ต่อหัวเป็น 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มดัชนีการมีส่วนร่วมของภาคการผลิดโมร็อกโกในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศเป็นร้อยละ 50 (จากเดิมปัจจุบันร้อยละ 28) การเพิ่มอัตราพยายาบาลต่อประชากร 1000 คน เป็น 4.5 คน (จากเดิมมี 1.65 คน) การเพิ่มศักยภาพด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็ก เป็นร้อยละ 75 (จากเดิมร้อยละ 25) การเพิ่มความพึงพอใจของประชาชนต่อบริการภาครัฐเป็นร้อยละ 80 เป็นต้น และเน้นการพัฒนาในภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับภาคเศรษฐกิจในการตอบสนองต่อปัญหาหรือข้อท้าทายต่าง ๆ การใช้การวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในการพัฒนาเกษตรกรรม และการสร้างความหลากหลายและเพิ่มคุณภาพด้านการท่องเที่ยว

ดัชนีเกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่สำคัญ

ดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index)  40 คะแนน อันดับที่ 86 จาก 180 ประเทศ (ปี 2563)

ดัชนีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ (Gini Index) ร้อยละ 40 (ปี 2562)

ดัชนีความปลอดภัย (Safety Index) ร้อยละ 50.90 อันดับที่ 87 จาก 135 ประเทศ (ปี 2564)

การคาดการณ์ระดับความเสี่ยง (Risk Map 2021) โมร็อกโกมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงอยู่ในระดับต่ำ และมีความเสี่ยงด้านการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง

 

ข้อมูลเศรษฐกิจ

ภาพรวม

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา โมร็อกโกมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 5 (รองจากไนจีเรีย แอฟริกาใต้ อียิปต์ และแอลจีเรีย) โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) เฉลี่ยร้อยละ 3.7 ในช่วงปี 2555 – 2558 และร้อยละ 3.175 ในช่วงปี 2560 – 2562 อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปี 2565

ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) 119.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita, current USD) 3,204.095 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562)

อัตราการขาดดุลงบประมาณร้อยละ 7.8 ของ GDP (2563)

อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ร้อยละ 77.8 (2563)

อัตราการเติบโตของ GDP (GDP Growth annual, %) ร้อยละ -6.3 (ปี 2563)

อัตราเงินเฟ้อ (Inflation, Consumer Prices, annual, %) ร้อยละ 0.706 (ปี 2563)

อัตราการว่างงาน (Unemployment rate, total, %) ร้อยละ 11.9 (ปี 2563) (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.2 ในปี 2562)

ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน 4.0 (Global Competitiveness Index – GCI) 49 คะแนน อันดับที่ 111 (ปี 2562)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) 68.30 (ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564)

อันดับความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business Ranking) อันดับที่ 53 จาก 190 ประเทศ (ปี 2563)

การค้า

การค้าระหว่างประเทศเป็นสาขาที่ก่อให้เกิดรายได้แก่โมร็อกโกมากที่สุด (ร้อยละ 87.5 ของ GDP ในปี 2562) โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ ลวดสายไฟหุ้มฉนวน ปุ๋ย และสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ น้ำมันดิบ รถยนต์ ก๊าซธรรมชาติ ชิ้นส่วนรถยนต์และรถแทรกเตอร์ เป็นต้น คู่ค้าที่สำคัญสำหรับการส่งออกในปี 2562 ได้แก่ สเปน (ร้อยละ 24.1) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 21.6) อิตาลี (ร้อยละ 4.7) สหรัฐฯ (ร้อยละ 4) เยอรมนี (ร้อยละ 3.2) ส่วนคู่ค้าที่สำคัญสำหรับการนำเข้าในปี 2562 ได้แก่ สเปน (ร้อยละ 15.6) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 12.2) จีน (ร้อยละ 10.1) สหรัฐฯ (ร้อยละ 7.4) อิตาลี (ร้อยละ 5.4) โดยส่วนใหญ่โมร็อกโกขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2558-2562 ขาดดุลการค้าเฉลี่ยปีละ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากสถิติในปี 2562 โมร็อกโกส่งออกสินค้าไปต่างประเทศจำนวนรวม 29.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนรวม 50.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โมร็อกโกได้ลงนามความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area – FTA) กับสหภาพยุโรปเมื่อปี 2539 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 และได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement) กับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549 นอกจากนี้ ยังมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับตุรกี ตูนิเซีย อียิปต์ จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และได้ร่วมลงนามในเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Area – AfCFTA) แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันสาร (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2564)

กฎระเบียบการประกอบธุรกิจ
โมร็อกโกมีนโยบายปกป้องธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ จึงมีอัตราภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าในอัตราสูง และมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าค่อนข้างซับซ้อน และยุ่งยาก การแลกเปลี่ยนเงินตราทำได้ค่อนข้างยาก โมร็อกโกมีกฎระเบียบในการแลกเปลี่ยนเงินที่เคร่งครัด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่จัดทำโดยธนาคารโลก พบว่าโมร็อกโกมีคะแนนระดับดีมากในด้านการเริ่มธุรกิจ (Starting a business) แต่มีคะแนนต่ำในด้านการขอสินเชื่อ (Getting Credit)

การลงทุน

จากรายงานเรื่อง “”World Investment Report” ที่เผยแพร่โดย UNCTAD เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 และเวบไซต์บริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ พบว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ของโมร็อกโกมีมูลค่าคงตัวในปี 2563 ที่ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในสาขาอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ อากาศยาน และสิ่งทอ โดยรัฐบาลโมร็อกโกดำเนินการตามแผนการเร่งรัดอุตสาหกรรม 2557-2563 (Industrial Acceleration Plan 2014-2020) ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และได้ขยายการดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องออกไปในช่วงปี 2564-2568 โดยใช้วิธีการส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในทุกภูมิภาคของประเทศ การรวมกลุ่มของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises – SMEs) และส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยใช้จุดแข็งของค่าจ้างแรงงานต่ำ จุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งระหว่างยุโรปกับภูมิภาคแอฟริกาซับซาฮารา โครงสร้างสาธารณูปโภคที่ดี และเสถียรภาพทางการเมือง อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายของการลงทุนในโมร็อกโก คือ ตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างเล็ก ความสามารถในการแข่งขันของแรงงานอยู่ในระดับต่ำ ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคและภายในสังคม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาค่อนข้างต่ำ ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเศรษฐกิจยังพึ่งพิงภาคเกษตรกรรมและราคาพลังงานในระดับสูง

เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนในสาขาต่าง ๆ สามารถเรียงลำดับ (ปี 2562) ได้ดังนี้ การผลิตด้านอุตสาหกรรม (ร้อยละ 32.8) อสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 21.2) การค้า (ร้อยละ 8.8) การท่องเที่ยว (ร้อยละ 6.9) การขนส่ง (ร้อยละ 5) การธนาคาร (ร้อยละ 4.9) พลังงานและเหมืองแร่ (ร้อยละ 2.9)

ประเทศที่ลงทุนในโมร็อกโกในสัดส่วนสูงสุด (ปี 2562) คือ ฝรั่งเศส (ร้อยละ 34.8) โดยได้จัดตั้งบริษัทสาขาประมาณ 500 บริษัทในโมร็อกโก จ้างแรงงานประมาณ 65,000 ราย โดยบริษัทที่สำคัญ อาทิ Total, Renault รองลงมาคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 7.2) สเปน (ร้อยละ 7) ลักเซมเบิร์ก (ร้อยละ 6.9) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 3.4) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 3.2) ซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 3) เบลเยียม (ร้อยละ 2.9)

 

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

กฏระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนของโมร็อกโกค่อนข้างเสรี โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ 100 % ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร่วมทุนท้องถิ่น และสามารถลงทุนได้เกือบทุกสาขา ยกเว้นการซื้อที่ดินการเกษตร และบางสาขาที่รัฐบาลโมร็อกโกเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ อาทิ อุตสาหกรรมฟอสเฟต

กฎหมายที่สำคัญด้านการลงทุนของโมร็อกโก คือ กฎบัตรการลงทุน (Investment Charter) ปี 2538 ซึ่งมีหลักการสำคัญส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญ อาทิ

  • การยกเว้นภาษีบริษัทในช่วง 5 ปีแรกของการลงทุน และยกเว้นภาษีรายได้จากการส่งออกร้อยละ 50 ในช่วง 5 ปีต่อจาก 5 ปีแรก
  • การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ
  • การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการส่งออก
  • การลงทุนในเมืองแทนเจียร์ จะได้รับการลดภาษีบริษัทร้อยละ 50 รวมทั้งภาษีรายได้บุคคล และค่าสิทธิบัตร
  • การคุ้มครองการลงุทนและการโอนเงินทุนอย่างเสรี
  • การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างการลงทุนจากต่างประเทศกับนักลงทุนภายในประเทศ

การลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านดีร์ฮาม (ประมาณ 700 ล้านบาท) จะได้รับการพิจารณาอนุมัติโดยคณะกรรมาธิการพิเศษ ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษด้านการลงทุนเพิ่มเติม

สำนักงานการพัฒนาการลงทุนและการส่งออกแห่งโมร็อกโก (Moroccan Investment and Export Development Agency – AMDIE) เป็นองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนทั้งนักลงทุนภายในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ และส่งเสริมการส่งออกจากโมร็อกโกไปยังต่างประเทศ โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ให้ความช่วยเหลือโครงการลงทุนในโมร็อกโก ช่วยสร้างเครือข่ายกับหุ้นส่วนหรือผู้จัดหาสินค้าและบริการ (supplier) เป็นต้น นอกจากนี้ ในแต่ละภูมิภาคของโมร็อกโกยังมีการจัดตั้ง Investment Regional Center เป็นหน่วยงานในลักษณะ One-stop service ในระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยมีภารกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งบริษัท ช่วยเหลือนักลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคของตน

โมร็อกโกได้จัดทำความตกลงด้านการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนกับประเทศต่าง ๆ จำนวน 61 ฉบับ และความตกลงเพื่อยกเว้นภาษีซ้อนจำนวน 33 ฉบับ

ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโมร็อกโก

โมร็อกโกกับไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี 2528 โดยไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต เมื่อเดือนมีนาคม 2537 ส่วนโมร็อกโกได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน โดยความสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่น

ความสัมพันธ์กับไทยด้านการค้า

หากพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับโมร็อกโกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2542 – 2562) พบว่า มูลค่าการค้าในช่วงแรกมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ระดับ 2,071.81 ล้านบาท เมื่อปี 2542 จนถึงระดับสูงสุดที่ 8,922.57 ล้านบาท เมื่อปี 2553 หลังจากนั้น ได้ปรับลดลงมาสู่ระดับห้าพันล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยในช่วงปี 2561 – 2563 การค้าระหว่างไทย-โมร็อกโกมีมูลค่าเฉลี่ย 5,182 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าเฉลี่ยปีละ 1,598.77 ล้านบาท

สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปโมร็อกโกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เรียงตามลำดับมูลค่าการส่งออกในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. 2564 ดังนี้ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล โดยสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกจากไทยไปโมร็อกโกในลำดับต้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามด้วยผลไม้กระป๋องและแปรรูป

สินค้านำเข้าสำคัญจากโมร็อกโกไปไทย เรียงตามลำดับมูลค่าการส่งออกในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. 2564 ดังนี้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ไดโอด ทรานซิสเตอร์และ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

ไทยกับโมร็อกโกได้ร่วมลงนามความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) ระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2543 เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและสร้างความหลากหลายของการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee – JTC) นอกจากนี้ ภาคเอกชนของไทยและโมร็อกโก ได้ลงนามความตกลงจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-โมร็อกโก เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551

ความสัมพันธ์กับไทยด้านการลงทุน

การลงทุนระหว่างไทยกับโมร็อกโกยังอยู่ในระดับต่ำ โดยตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา มีการลงทุนจากโมร็อกโกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพียง 3 โครงการ คือ (1) การลงทุนของบริษัท O’BRILLIANT ASIA PACIFIC จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องประดับและชิ้นส่วน มูลค่าการลงทุน 20 ล้านบาท (2) การลงทุนของ Ely Cheikh N Tehah ในสาขาบริการการค้าระหว่างประเทศ มูลค่าการลงทุน 10 ล้านบาท และ (3) การลงทุนของ Mr. Tristan, Albert, Henri Louette ในด้านซอฟต์แวร์และเนื้อหาดิจิทัล มูลค่าการลงทุน 1.2 ล้านบาท ในส่วนการลงทุนของไทยในโมร็อกโก มีการลงทุนของ Minor Group ในกิจการโรงแรมที่เมืองแทนเจียร์ โดยเริ่มเปิดทำการเมื่อปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยและร้านนวด/สปาไทยในโมร็อกโกรวมประมาณ 13 ราย

ประเด็นท้าทายในการประกอบธุรกิจไทยในโมร็อกโก
- ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในการทำธุรกิจในโมร็อกโก
- คุณภาพของทรัพยากรบุคคลค่อนข้างต่ำ
- ไทยและโมร็อกโกยังไม่มีมาตรการด้านการค้าและการลงทุนที่เอื้อในการทำธุรกิจระหว่างกัน
- ภาษาราชการคือภาษาอาหรับ โดยสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสในการติดต่อธุรกิจและหน่วยงานราชการได้ อย่างไรก็ดี ในชีวิตประจำวัน ชาวโมร็อกโกทั่วไปใช้ภาษาอาหรับท้องถิ่น ซึ่งผสมผสานกันระหว่างภาษาอาหรับ ฝรั่งเศส และภาษาพื้นเมือง
- ราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อของของคนโมร็อกโก และสินค้าจากจีนมีราคาถูกกว่าสินค้าจากไทย
- สินค้าไทยยังคงไม่เป็นที่รู้จักในตลาดโมร็อกโก ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการประชาสัมพันธ์และมีมาตรการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง  

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวโมร็อกโกเดินทางไปท่องเที่ยวในไทย 9,910 คน และนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปโมร็อกโก 71 คน

ความสัมพันธ์ด้านการศึกษา

โมร็อกโกให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาบัตรแก่นักศึกษาไทยจำนวน 15 ทุน เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2537 โดยนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ศึกษาด้านอิสลามศึกษา นอกจากนี้ ไทยและโมร็อกโกยังได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยไทย-โมร็อกโก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต

18 มิถุนายน 2564

โดยรวบรวมข้อมูลจากเวบไซต์หน่วยงานและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ

https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=MA

https://www.populationdata.net/pays/maroc/

https://www.douane.gov.ma/web/guest/notre-institution-a-l-international

http://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx

https://www.doingbusiness.org/en/data/exploreeconomies/morocco

https://morocconow.com/en/e/amdie

https://santandertrade.com/en/portal/establish-overseas/morocco/foreign-investment

https://www.diplomatie.ma/fr/investir-au-maroc