วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ม.ค. 2566
สาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย
(Islamic Republic of Mauritania)
ข้อมูลทั่วไป
สภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ
มอริเตเนียตั้งอยู่ในด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดโมร็อกโกและแอลจีเรีย ทิศใต้ติดเซเนกัล ทิศตะวันออกติดมาลี และทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแอตแลนติก
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบทะเลทรายซาฮารา มีแม่น้ำเซเนกัลไหลผ่านทางตอนใต้ของประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญ
สภาพภูมิอากาศร้อนและแห้งแล้งโดยมีน้ำฝนในปริมาณน้อย ทางตอนใต้ของประเทศมีฝนตกมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดบเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
ขนาดพื้นที่ประเทศ 1,030,700 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม 396,610 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เขตเมือง 772 ตารางกิโลเมตร
ภาษา
นอกเหนือจากภาษาอารบิกซึ่งเป็นภาษาราชการแล้ว ยังมีการใช้ภาษาท้องถิ่น และใช้ภาษาฝรั่งเศสในการติดต่อราชการอีกหนึ่งภาษา
ศาสนา
ประชากรร้อยละ 99 นับถือศาสนาอิสลาม
สกุลเงิน
อูกียามอริเตเนีย (อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ 1 อูกียามอริเตเนีย เท่ากับ 0.92 บาท)
ประชากร
4,933,056 คน ร้อยละ 49.7 เป็นเพศหญิง และ ร้อยละ 50.3 เป็นเพศชาย ประชากรร้อยละ 56 อาศัยในเขตเมือง (ปี 2564)
ดัชนีเกี่ยวกับประชากรที่สำคัญ
อายุขัยเฉลี่ยประชากร 61.1 ปี (ซึ่งต่ำกว่าอายุขัยเฉลี่ยประชากรโลก 71 ปี) โดยผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ย 63.4 ปี สูงกว่าเพศชายที่มีอายุขัยเฉลี่ย 58.9 ปี
อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 53 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) (ปี 2563) โดยมีอัตราการรู้หนังสือในผู้หญิงร้อยละ 43 และผู้ชายร้อยละ 64
อัตราความยากจน ร้อยละ 58.80 ของประชากร (ปี 2557) โดยวัดจากเส้นแบ่งความยากจนที่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มีอัตราร้อยละ 64.9 ของประชากร
ดัชนีวัดความเป็นอยู่ที่ดีของสตรี (Women, Peace and Security Index) 0.577 อันดับที่ 157 จาก 170 ประเทศ (ปี 2564/2565)
ดัชนีความครอบคลุมประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC service coverage index) 40 (ปี 2562)
การเมืองการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยประธานาธิบดีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีสภาเดียว คือ สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งสมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มี 157 ที่นั่ง
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Mohamed Cheikh El Ghazouani เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 สิงหาคม 2562
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Mohamed Ould Bilal Messoud เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2563
หลังจากที่มอริเตเนียได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2503 ได้มีการก่อรัฐประหารเป็นระยะๆ จนกระทั่งปี 2551 พลเอก Mohamed Ould Abdel Aziz ได้ก่อรัฐประหาร และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2552 ทำการปกครองประเทศอีกเป็นเวลา 10 ปี จนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีมอริเตเนียครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติโดยไม่มีการก่อรัฐประหารเป็นครั้งแรก โดยนาย Mohamed Cheikh El Ghazouani ประธานาธิบดีมอริเตเนียคนปัจจุบัน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสมัยที่อดีต Mohamed Ould Abdel Aziz ปกครองประเทศ
มอริเตเนียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมข้อท้าทายจากการก่อการร้าย โดยหลังจากที่ประสบปัญหาการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายเป็นระยะๆ ในช่วงปี 2548 – 2554 มอริเตเนียสามารถควบคุมภัยจากการก่อการร้ายได้จนถึงปัจจุบัน
แผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมอริเตเนีย สรุปได้ดังนี้
ดัชนีเกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่สำคัญ
ดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index) 28 จาก 100 คะแนน อันดับที่ 140 จาก 180 ประเทศ (ปี 2564)
ดัชนีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ (Gini Index) ร้อยละ 32.6 (ปี 2557)
ดัชนีความปลอดภัย (Safety Index) อันดับที่ 112 จาก 163 ประเทศ (ปี 2565)
การคาดการณ์ระดับความเสี่ยง (Risk Map 2022) ระดับปานกลาง
ข้อมูลเศรษฐกิจ
ภาพรวม
จากสถิติของธนาคารโลก มอริเตเนียมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 โดยมี GDP เฉลี่ยปีละ 8.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2560-2564 โดยมอริเตเนียมีการเพิ่มขึ้นของ GDP อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจพบว่ามอริเตเนียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เฉลี่ยปีละ ร้อยละ 3.58 ในช่วงปี 2560 – 2564 โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ -0.9% ในช่วงปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.4 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน รวมทั้งผลประกอบการจากสาขาบริการที่ดีขึ้น โดยธนาคารโลกคาดว่าจะเศรษฐกิจมอริเตเนียจะเติบโตต่อเนื่องเป็นร้อยละ 4 ในปี 2565 จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในสาขาเหมืองแร่และสาขาบริการ
เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) โดยเปรียบเทียบกับความเท่าเทียมกันของอำนาจการซื้อ (Purchasing Power Parity – PPP) พบว่า GDP ต่อหัวของประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเหมือนกับอัตราการเพิ่มขึ้นของ GDP ของประเทศ โดยในปี 2564 มอริเตเนียมี GDP ต่อหัว PPP ลดลงเหลือ 5,308 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มี GDP ต่อหัว PPP มูลค่า 5,506 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปี 2560-2564 มอริเตเนียมี GDP ต่อหัว PPP มูลค่า 5,351 ดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจของมอริเตเนียในระยะกลางมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของ GDP ร้อยละ 6.5 ในช่วงปี 2566-2567 จากการเปิดเหมืองแร่ และการเตรียมผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2567 อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึง อาทิ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาของน้ำมันและอาหารที่อาจยังคงอยู่ในระดับสูง ความผันผวนของราคาสินค้าส่งออกที่อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตช้าลง ความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหาร ความมั่นคงในภูมิภาคซาเฮล รวมถึงภาวะความแห้งแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อผลิตผลการเกษตรและรายได้ครัวเรือน
ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP, current) 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564) เพิ่มขึ้นจาก 8.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita, PPP) 5,308 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ลดลงจาก 5,315 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2563
ดุลบัญชีเดินสะพัด (current account balance (BOP, current)) -807 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ขาดดุล -576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตของ GDP (GDP Growth Annual, %) ร้อยละ 2.4 ในปี 2564 เติบโตดีขึ้นกว่าปี 2563 ที่มีอัตราการเติบเป็นลบ ที่ -0.9
อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ร้อยละ 44.2 ของ (GDP) (ธันวาคม 2564)
อัตราเงินเฟ้อ (Inflation, Consumer Prices, annual, %) ร้อยละ 3.6 ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในปี 2563
อัตราการว่างงาน (Unemployment rate, total, modeled ILO estimate, %) ร้อยละ 11.5 ของแรงงานทั้งหมดในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.3 ในปี 2563
การลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, net, (BOP, current)) -1.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 ลดลงจาก -927 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563
อันดับความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business Ranking) อันดับที่ 152 จาก 190 ประเทศ (ปี 2563)
การค้า
การค้าระหว่างประเทศมีอัตราส่วนร้อยละ 100.4 ของ GDP มอริเตเนียในปี 2564 โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้า 4,434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าสินค้า 3,564 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกภาคบริการ 193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าภาคบริการ 782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญในปี 2563 ได้แก่ แร่เหล็กและทองแดง สินค้าประมง ทอง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ข้าวสาลี น้ำตาล น้ำมันถั่วเหลือง
คู่ค้าสำคัญสำหรับการนำเข้าสินค้าในปี 2563 ได้แก่ สเปน (ร้อยละ 14.6) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 14.2) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 8.4) จีน (ร้อยละ 8.2) เบลเยียม (ร้อยละ 6.8) ส่วนคู่ค้าสำคัญสำหรับการส่งออกสินค้าในปี 2563 ได้แก่ จีน (ร้อยละ 33.9) สวิตเซอร์แลนด์ (ร้อยละ 17.1) แคนาดา (ร้อยละ 10) สเปน (ร้อยละ 6.6) อิตาลี (ร้อยละ 4.6)
มอริเตเนียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแอฟริกาที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Area – AfCFTA) เมื่อปี 2561 เข้าร่วมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States – ECOWAS) ซึ่งอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี เมื่อปี 2560 และได้ร่วมลงนามในความตกลง Cotonou ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศในแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก 79 ประเทศ ในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ
การลงทุน
สาขาเศรษฐกิจสำคัญสำหรับการลงทุน อาทิ เหมืองแร่ การประมง ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรม พลังงานทดแทน เกษตรกรรม การท่องเที่ยว โดยรัฐบาลมอริเตเนียให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน “Agency for the Promotion of Investment in Mauritania” (APIM) เมื่อปี 2564 เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและเร่งการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยปรับปรุงกฎหมายการลงุทนและส่งเสริมเสถียรภาพในการประกอบธุรกิจ
ข้อท้าทายของการลงทุนในมอริเตเนีย ได้แก่ กระบวนการทางราชการ รวมถึงกระบวนการขอใบอนุญาตที่ค่อนข้างซับซ้อน ประชากรที่ยากจนมีอัตราสูง เศรษฐกิจในระบบมีขนาดจำกัด และไม่มีความหลากหลายในสาขาธุรกิจ ผู้สนใจลงทุนสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนของมอริเตเนียได้ที่เวบไซต์ของ APIM https://apim.gov.mr/fr/homepage-french/
สามารถดูกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนได้ที่ https://investmentpolicy.unctad.org/investment-laws/laws/131/mauritania-investment-code
สามารถดูข้อมูลสรุปเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทุนได้ที่ https://www.droit-afrique.com/uploads/Mauritanie-Investir-en-mauritanie-2022-ExcoGHAMauritanie.pdf
ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมอริเตเนีย
มอริเตเนียกับไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2519 ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีสำนักงานผู้แทนระหว่างกัน โดยไทยมอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต มีเขตอาณาครอบคลุมมอริเตเนีย และเมื่อปี 2560 ไทยได้แต่งตั้งนายอะมาดู เราะเซน บา (Mr. Amadou Racine Ba) บุคคลสัญชาติมอริเตเนีย เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงนูอากชอต ในขณะที่ฝ่ายมอริเตเนียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตมอริเตเนีย ณ กรุงจาการ์ตา มีเขตอาณาครอบคลุมไทย
ความสัมพันธ์กับไทยด้านการค้า
เมื่อปี 2565 การค้าระหว่างไทย-มอริเตเนียมีมูลค่า 757.01 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 92.28% เมื่อเทียบกับปี 2564) โดยไทยส่งออกมูลค่า 754.86 ล้านบาท และนำเข้าจากมอริเตเนียมูลค่า 2.15 ล้านบาท ทำให้ไทยได้ดุลการค้า 752.71 ล้านบาท เมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 2561-2565 การค้าระหว่างไทยกับมอริเตเนียมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 721.19 ล้านบาท โดยมีการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2562 มูลค่า 1,254.22 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 126.73% เมื่อเทียบกับปี 2561)
สินค้าส่งออกจากไทยไปมอริเตเนียที่สำคัญมีลักษณะผสมกันทั้งสินค้าเกษตรและอาหารและสินค้าอุตสาหกรรม โดยสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ในช่วงปี 2565 ตามตารางต่อไปนี้
ตารางที่ 1 สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก จากไทยไปมอริเตเนีย (2565)
ลำดับที่ |
ประเภทสินค้า |
มูลค่าการส่งออก (ล้านบาท) |
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 2564 (%) |
1 |
ข้าว |
337.89 |
168.25 |
2 |
เคมีภัณฑ์ |
117.18 |
n/a |
3 |
เครื่องดื่ม |
61.13 |
46.92 |
4 |
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ |
55.99 |
-14.29 |
5 |
ผลไม้กระป๋องและแปรรูป |
29.26 |
12.51 |
6 |
ผลิตภัณฑ์พลาสติก |
29.02 |
-34.04 |
7 |
ผลิตภัณฑ์ยาง |
23.57 |
135.51 |
8 |
เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว |
23.18 |
38.03 |
9 |
ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ |
16.18 |
n/a |
10 |
รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ |
12.78 |
-69.85 |
ที่มาข้อมูล: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
สินค้านำเข้าสำคัญจากมอริเตเนียมาไทยยังมีจำนวนน้อย และมีลักษณะผสมกันระหว่างสินค้าเกษตรและอาหารกับสินค้าอุตสาหกรรมเช่นกัน ดังตารางต่อไปนี้
ตารางที่ 2 สินค้านำเข้าสำคัญจากมอริเตเนียมาไทย (2565)
ลำดับที่ |
ประเภทสินค้า |
มูลค่าการส่งออก (ล้านบาท) |
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 2564 (%) |
1 |
สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป |
1.50 |
n/a |
2 |
แผงวงจรไฟฟ้า |
0.39 |
151.60 |
3 |
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ |
0.10 |
n/a |
4 |
เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ |
0.06 |
n/a |
5 |
เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด |
0.05 |
4,620 |
6 |
ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง |
0.03 |
n/a |
7 |
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ |
0.01 |
n/a |
8 |
เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค |
0.01 |
n/a |
ที่มาข้อมูล: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
ปัจจุบัน ไทยกับมอริเตเนียยังไม่มีการลงทุนระหว่างกัน และยังไม่เคยลงนามความตกลงระหว่างกัน
มีคนไทยพำนักอาศัยในมอริเตเนียจำนวน 4 คน
มีนักท่องเที่ยวจากมอริเตเนียเดินทางมาไทยจำนวน 99 คน ในปี 2560 (ลดลงร้อยละ 17 จากปี 2559) และในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวจากมอริเตเนียเดินทางมาไทยจำนวน 91 คน (สถิติจากกรมการท่องเที่ยว)
ในปี 2565 มีชาวมอริเตเนีย/ผู้มีถิ่นพำนักในมอริเตเนียขอรับการตรวจลงตราเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในไทยจำนวน 14 คน (สถิติจากฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต)
* * * * * * * * * * *
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต
30 มกราคม 2566
แหล่งข้อมูล
https://www.doingbusiness.org/content/dam/doingBusiness/country/m/mauritania/MRT.pdf
https://perspective.usherbrooke.ca/bilan/servlet/BMGvt?codePays=MRT
https://santandertrade.com/en/portal/analyse-markets/mauritania/foreign-trade-figures
https://donnees.banquemondiale.org/indicateur/AG.SRF.TOTL.K2?locations=MR
https://countrymeters.info/fr/Mauritania
https://data.worldbank.org/indicator/SE.ADT.LITR.ZS?locations=MR
https://www.macrotrends.net/countries/MRT/mauritania/poverty-rate
https://www.britannica.com/place/Mauritania/Government-and-society
https://www.ipu.org/fr/parlement/MR
https://www.ritimo.org/Chronologie-sur-la-Mauritanie
https://www.banquemondiale.org/fr/country/mauritania/overview
https://www.economie.gov.mr/spip.php?article547
https://www.ilo.org/dyn/natlex/docs/ELECTRONIC/109101/135258/F-2132638438/MRT-109101.pdf
https://www.afdb.org/fr/documents/perspectives-economiques-en-afrique-2022
https://www.imf.org/external/datamapper/NGDPD@WEO/OEMDC/ADVEC/WEOWORLD/AFQ
https://www.lloydsbanktrade.com/en/market-potential/mauritania/trade-profile
https://www.state.gov/reports/2022-investment-climate-statements/mauritania/
Ouvert du lundi au vendredi de
09h00 – 17h00