ข้อมูลเกี่ยวกับสาธารณรัฐตูนิเซีย

ข้อมูลเกี่ยวกับสาธารณรัฐตูนิเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ม.ค. 2566

| 23,185 view

สาธารณรัฐตูนิเซีย

(Republic of Tunisia)

ข้อมูลทั่วไป

สภาพภูมิศาสตร์

ตูนิเซียตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันตกติดแอลจีเรีย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดลิเบีย ขนาดพื้นที่ประเทศ 163,610 ตารางกิโลเมตร นับเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ

ลักษณะภูมิประเทศมีความหลากหลาย ทางตอนเหนือเป็นภูเขา ทางตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบแห้ง ทางตอนใต้มีบริเวณทะเลทรายซาฮาราที่แห้งแล้ง มีพื้นที่สำหรับเกษตรกรรมร้อยละ 65 ของพื้นที่ หรือประมาณ 106,085 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่เขตเมืองร้อยละ 6 ของพื้นที่ หรือประมาณ 9,898 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง คือ กรุงตูนิส

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศแบ่งออกได้เป็น 7 เขต ซึ่งมีทั้งสภาพภูมิอากาศแบบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และแบบทะเลทรายซาฮารา ในภาพรวมทั้งประเทศมีอุณหภูมิเฉลี่ย 12 องศาเซลเซียสในเดือนธันวาคม และ 30 องศาเซลเซียสในเดือนกรกฎาคม

ภาษา

ภาษาราชการ คือ ภาษาอารบิก โดยมีภาษาอารบิกสำเนียงท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้ ภาษาฝรั่งเศสเป็นอีกภาษาที่ใช้อย่างแพร่หลาย

ศาสนา

ประชากรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98) นับถือศาสนาอิสลาม

สกุลเงิน

ดีนาร์ (อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ 1 ดีนาร์ เท่ากับ 10.80 บาท)

ประชากร

12,150,776 คน (ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2565) ร้อยละ 50 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 50 เป็นเพศชาย

ดัชนีเกี่ยวกับประชากรที่สำคัญ

อายุขัยเฉลี่ยประชากร 77 ปี โดยผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ย 79 ปี ผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ย 75 ปี

อัตราการรู้หนังสือ ประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 79 (ปี 2557)

ดัชนีวัดความเป็นอยู่ที่ดีของสตรี (Women, Peace and Security Index) 0.659 ลำดับที่ 117 จาก 170 ประเทศ (ปี 2564)

การเมืองการปกครอง

ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Kaïs Saïed จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2562 ภายหลังการรับตำแหน่งประธานาธิบดีตูนิเซียดังกล่าว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีและการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ จนกระทั่งวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ประธานาธิบดีตูนิเซีย ได้ประกาศใช้มาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญตูนิเซีย โดยให้นายกรัฐมนตรีตูนิเซียพ้นจากตำแหน่ง และระงับการดำเนินงานของสภา (สมัชชาผู้แทนประชาชน หรือ Assembly of the Representatives of the People – ARP) ยกเลิกความคุ้มกันของสมาชิกสภา โดยประธานาธิบดีเป็นผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาง Najla Bouden ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยมีภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีที่สำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน การปรับปรุงด้านสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคม และการส่งเสริมเกียรติภูมิของประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน คือ นาย Othman Jerandi 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของตูนิเซียได้รับการลงประชามติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 โดยได้รับความเห็นชอบร้อยละ 94.6 จากผู้ที่ออกเสียงทั้งหมด และไม่ได้รับความเห็นชอบร้อยละ 5.4 อย่างไรก็ดี การลงประชามติดังกล่าวได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นการลงประชามติที่มีผู้ออกเสียงจำนวนน้อยที่สุดนับตั้งแต่มีการออกเสียงลงคะแนนเสียงในเรื่องสำคัญของตูนิเซียนับตั้งแต่ปี 2554 (ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ Arab Spring) โดยมีผู้ที่เข้าร่วมลงประชามติร้อยละ 30.5 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด จากผลการลงประชามติดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของตูนิเซียได้รับการประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 โดยขยายอำนาจของประธานาธิบดีเพิ่มมากขึ้น โดยมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เสนอร่างกฎหมายต่อสภา และแต่งตั้งผู้พิพากษา จากเดิมที่อำนาจในการบริหารมีการแบ่งสรรระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการคัดเลือกจากสภา นอกจากนี้ ยังได้ปรับให้มีสองสภา โดยเพิ่มคณะมนตรีภูมิภาคและเขตแห่งชาติ (National Council of Regions and Districts) เพื่อกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น ทั้งนี้ สภาจะไม่มีสิทธิตั้งข้อหาถอดถอน (impeachment) ประธานาธิบดี

ดัชนีเกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่สำคัญ

ดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index) 44 คะแนน อันดับที่ 70 จาก 180 ประเทศ (ปี 2563) (อันดับที่เท่าเดิมเมื่อเทียบกับปี 2563)

ดัชนีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ (Gini Index) 32.8 (ปี 2558)

ดัชนีความปลอดภัย (Safety Index) 1.996 อันดับที่ 85 จาก 163 ประเทศ (ปี 2565)

การคาดการณ์ระดับความเสี่ยง (Risk Map 2022) ระดับปานกลาง

ข้อมูลเศรษฐกิจ

จากรายงานของธนาคารโลก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของตูนิเซียในช่วงปี 2554- 2562 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ซึ่งเป็นผลมาจากการมีกฎระเบียบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากเกินความจำเป็น ไม่ได้เน้นกระตุ้นการส่งออก มีการลงทุนค่อนข้างน้อย และขาดนวัตกรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำทำให้เกิดการจ้างงานน้อย แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเพิ่มการจ้างงานในภาครัฐแล้วก็ตาม แต่ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นผลให้ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 40 ของ GDP ในปี 2553 เป็นร้อยละ 84.5 ของ GDP ในปี 2564 ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกระเตื้องได้ยากขึ้น ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2565 และอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.6 เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว และผลประกอบการจากธุรกิจสาขาเหมืองแร่ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.9 ในช่วงไตรมาสสามของปี 2565 และทำให้ระดับการว่างงานกลับเข้าสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ที่ร้อยละ 15.3 ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2565

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของตูนิเซีย

ตูนิเซียอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปี ค.ศ. 2023 – 2025 ซึ่งเน้นเรื่องการลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ภายในประเทศ การส่งเสริมศักยภาพความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงาน ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองและลดภาวะความยากจน ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนภายในภูมิภาคโดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ตูนิเซียมียุทธศาสตร์ “Tunisia 2035” ที่เน้นเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ เศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนข้อริเริ่มภาคเอกชน เศรษฐกิจสีเขียว ความเป็นธรรมทางสังคม และการพัฒนาในภูมิภาค

ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP, current) 46.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564) (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 42.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2563)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita, current) 3,924.3 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564) (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3,597.20 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2563)

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account balance (BOP, current)) -817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ เดือนกันยายน 2565)

อัตราการเติบโตของ GDP (GDP Growth annual, %) ร้อยละ 3.3 (ปี 2564) (เพิ่มขึ้นจาก -8.7% เมื่อปี 2563 ในช่วงเกิดสถานการณ์ COVID-19)

อัตราการขาดดุลงบประมาณ ร้อยละ 7.4 ของ GDP (ปี 2564)

อัตราส่วนหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ร้อยละ 79.7 (ณ เดือนธันวาคม 2564)

อัตราเงินเฟ้อ (Inflation, Consumer Prices, annual, %) ร้อยละ 5.7 (ปี 2564) (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 5.6 เมื่อปี 2563)

อัตราการว่างงาน (Unemployment rate, total, %) ร้อยละ 16.8 (ปี 2564) (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 16.6 เมื่อปี 2563)

การลงทุนจากต่างประเทศ 29,725.78 ล้านบาท (ปี 2561)

ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Index) 56.41 คะแนน อันดับที่ 87 (ปี 2562)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) -47.2 (ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561)

อันดับความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business Ranking) อันดับที่ 78 จาก 190 ประเทศ (ปี 2563)

การค้า

ตูนิเซียเป็นประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกสินค้า โดยในช่วงตั้งแต่ปี 2554 – 2562 มูลค่าการค้ารวม (ทั้งสินค้านำเข้าและส่งออก) คิดเป็นร้อยละ 104 ของ GDP โดยเฉลี่ย โดยในปี 2562 การค้าต่างประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 107.9 ของ GDP มีการนำเข้าสินค้าและบริการ 25,071 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกสินค้าและบริการ 19,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 5,373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของตูนิเซีย อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม แร่เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำมันและไขมันจากพืชหรือสัตว์ ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แร่เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องทำความร้อน เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ยานพาหนะ คู่ค้าที่สำคัญสำหรับการส่งออกในปี 2564 ได้แก่ ฝรั่งเศส (ร้อยละ 24.1) อิตาลี (ร้อยละ 18.4) เยอรมนี (ร้อยละ 12.8) สเปน (ร้อยละ 4.1) และลิเบีย (ร้อยละ 3.9) ส่วนคู่ค้าที่สำคัญสำหรับการนำเข้าในปี 2564 ได้แก่ อิตาลี (ร้อยละ 13.5) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 11.4) จีน (ร้อยละ 10.4) เยอรมนี (ร้อยละ 6.5) และตุรกี (ร้อยละ 5.4)

ตูนิเซียได้เข้าร่วมเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Agreement หรือ AfCFTA) เป็นสมาชิกตลาดร่วมแห่งแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa หรือ COMESA) และสหภาพอาหรับมาเกร็บ (Arab Maghreb Union หรือ AMU) นอกจากนี้ ยังมีเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2551 ร่วมลงนามในความตกลงอะกาเดียร์ (Agadir Agreement) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีร่วมกับอียิปต์ จอร์แดน และโมร็อกโก และได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ อาทิ มอริเตเนีย โมร็อกโก จอร์แดน คูเวต อียิปต์ แอลจีเรีย ซูดาน ตุรกี

กฎระเบียบการประกอบธุรกิจ

การนำเข้าสินค้าในตูนิเซียมีอัตราภาษีค่อนข้างสูง รวมถึงสินค้าเกษตร และยังมีภาษีสำหรับพิธีการศุลกากรเพิ่มอีกประมาณร้อยละ 3 ของภาษีนำเข้า และการนำเข้าสินค้าบางชนิดมีภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย นอกจากนี้ ตูนิเซียยังห้ามการส่งออกเงินสกุลต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าที่นำเข้า

ตูนิเซียได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (Investment Law) เมื่อปี 2559 กฎหมายแก้ไขข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดอุปสรรคด้านการลงทุนเมื่อปี 2562 กฎหมายเพื่อทำให้กระบวนการอนุญาตการลงทุนสะดวกขึ้นในปี 2563

การลงทุน

ตามข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ (Foreign Investment Promotion Agency หรือ FIPA) ของตูนิเซีย มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ของตูนิเซียมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 หลังจากที่ถดถอยร้อยละ 18 ในปี 2563 และร้อยละ 2 ในปี 2562 โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ 596 ล้านดีนาร์ (หรือประมาณ 6,454.55 ล้านบาท) โดยมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในสาขาบริการ และสาขาการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การลงทุนในสาขาพลังงานลดลง และการลงทุนในสาขาเกษตรกรรมไม่ได้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากนัก

สรุปแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 เมื่อเทียบกับมีนาคม 2564 ดังนี้

สาขา

FDI สิ้น มี.ค. 2565

FDI สิ้น มี.ค. 2564

ความเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)

บริการ

271.7 ล้านดีนาร์

(2,942.29 ล้านบาท)

38.3 ล้านดีนาร์

(414.76 ล้านบาท)

เพิ่มขึ้นร้อยละ 610

การผลิตอุตสาหกรรม

183 ล้านดีนาร์

(1,981.74 ล้านบาท)

159.9 ล้านดีนาร์

(1,731.59 ล้านบาท)

เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4

พลังงาน

137.8 ล้านดีนาร์

(1,492.26 ล้านบาท)

143.6 ล้านดีนาร์

(1,555.07 ล้านบาท)

ลดลงร้อยละ 4

เกษตรกรรม

ไม่เกิน 300,000 ดีนาร์

(3.2 ล้านบาท)

ไม่เกิน 180,000 ดีนาร์

(1.9 ล้านบาท)

 

จากสถิติของ UNCTAD การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของตูนิเซียในปี 2564 ลดลงเหลือ 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 845 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญในตูนิเซีย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส กาตาร์ อิตาลี และเยอรมนี สาขาการลงทุนที่สำคัญ อาทิ อุตสาหกรรม การศึกษา โทรคมนาคม การท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ รัฐวิสาหกิจยังเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญในตูนิเซียโดยบางสาขายังไม่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ จุดแข็งสำหรับการลงทุนในตูนิเซีย อาทิ มีการเติบโตของสาขาธุรกิจที่หลากหลาย เช่น การท่องเที่ยว เหมืองแร่ ได้รับการสนับสนุนจาก IMF มีแรงงานอายุน้อยที่มีศักยภาพ ที่ตั้งใกล้กับตลาดยุโรปและมีความตกลงกับสหภาพยุโรป มีทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะฟอสเฟตและไฮโดรคาร์บอน ในขณะที่ยังมีจุดอ่อน อาทิ การปฏิรูปเศรษฐกิจยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรนับตั้งแต่เหตุการณ์อาหรับสปริงเมื่อปี 2554 ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสังคมและระหว่างภูมิภาคยังมีอยู่สูง ระบบศุลกากรและการคลังที่มีแนวโน้มปกป้องตลาดภายในประเทศซึ่งเป็นปัญหาสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีหนี้สาธารณะระดับสูง และเศรษฐกิจนอกระบบยังมีสัดส่วนสูง (ร้อยละ 40-60)

ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตูนิเซีย

ตูนิเซียกับไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2510 ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการเปิดสำนักงานผู้แทนทางการทูตระหว่างกัน โดยฝ่ายตูนิเซียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตตูนิเซียประจำอินโดนีเซียมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ในส่วนของไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต มีเขตอาณาครอบคลุมตูนิเซียแทนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี และฝ่ายไทยแต่งตั้งนาย Karim Ayed เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำตูนิเซีย ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่น โดยในช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 รัฐบาลไทยได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือ ให้แก่รัฐบาลตูนิเซียด้วย

ความสัมพันธ์กับไทยด้านการค้า

หากพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับตูนิเซียในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา (2554 – 2564) พบว่ามีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 3,781.35 ล้านบาท โดยมีมูลค่าสูงสุดเมื่อปี 2554 มูลค่าการค้ารวม 7,738.31 ล้านบาท และมีมูลค่าต่ำสุดเมื่อปี 2562 มูลค่าการค้ารวม 2,626.12 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเฉลี่ยปีละ 3,470.96 ล้านบาท โดยได้ดุลการค้าสูงสุดเมื่อปี 2554 ได้ดุลการค้ารวม 7,281.51 ล้านบาท และได้ดุลการค้าต่ำสุดเมื่อปี 2562 ได้ดุลการค้า 1,368.95 ล้านบาท

ในช่วงปี 2565 การค้าระหว่างไทย-ตูนิเซียมีมูลค่า 3,491.11 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2564) โดยมีมูลค่าการส่งออกจากไทยไปตูนิเซียมูลค่า 2,588.25 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 15.92) และมีมูลค่าการนำเข้าจากตูนิเซียไปไทยมูลค่า 902.85 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.75)

สินค้าส่งออกจากไทยไปตูนิเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม มีสินค้าเกษตรเพียง 2 ชนิด ได้แก่ ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ติดอันดับ 10 สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปตูนิเซีย โดยมีรายชื่อสินค้าส่งออกจากไทยไปตูนิเซียเรียงตามลำดับมูลค่าการส่งออกในช่วงปี 2565 ตามตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก จากไทยไปตูนิเซีย (2565)

ลำดับที่

ประเภทสินค้า

มูลค่าการส่งออก

(ล้านบาท)

อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 (%)

1

รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

761.75

-33.90

2

ข้าว

280.27

13.52

3

เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ

222.88

-41.94

4

ผ้าผืน

170.28

23.12

5

ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ

113.72

n/a

6

ผลิตภัณฑ์ยาง

105.26

1.24

7

วงจรพิมพ์

100.82

7.76

8

เม็ดพลาสติก

83.90

409.85

9

ผ้าปักและผ้าลูกไม้

72.49

20.66

10

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

67.98

21.22

ที่มาข้อมูล: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

สินค้านำเข้าสำคัญจากตูนิเซียไปไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยมีสินค้าเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช โดยมีรายชื่อสินค้านำเข้าสำคัญจากตูนิเซียไปไทย เรียงตามลำดับมูลค่าการส่งออกในช่วงปี 2565 ตามตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 2 สินค้านำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก จากตูนิเซียไปไทย (2565)

ลำดับที่

ประเภทสินค้า

มูลค่าการส่งออก

(ล้านบาท)

อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 (%)

1

สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป

332.37

352.41

2

เสื้อผ้าสำเร็จรูป

115.99

31.47

3

เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

89.47

36.93

4

ลวดและสายเคเบิล

72.71

6.49

5

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

53.93

36.90

6

เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

47.25

125.22

7

เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค

31.64

49.19

8

เคมีภัณฑ์

31.18

8.49

9

ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

26.30

94.92

10

พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

19.44

88.24

ที่มาข้อมูล: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

การติดต่อระหว่างประชาชน

ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวชาวตูนิเซียเดินทางไปไทยจำนวน 6,348 คน (สถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย) และในปี 2560 มีชาวไทยเดินทางไปตูนิเซียจำนวน 63 คน (สถิติจากสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ตูนิเซียประจำประเทศไทย)

ในปี 2565 มีชาวตูนิเซีย/ผู้มีถิ่นพำนักในตูนิเซียขอรับการตรวจลงตราเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในไทย 167 คน (สถิติจากฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต)

ปัจจุบัน มีคนไทยในตูนิเซียประมาณ 30 คน ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารไทย พนักงานสปา คู่สมรสของชาวตูนิเซีย และนักศึกษา

* * * * * * * * * * * * *

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต

จัดทำข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566

แหล่งที่มาของข้อมูล

https://www.controlrisks.com/-/media/corporate/files/riskmap-2021/riskmap-2021-map-regions-world-a3v2.pdf

https://www.numbeo.com/crime/rankings_by_country.jsp

https://www.doingbusiness.org/en/data/exploreeconomies/tunisia

https://read.oecd-ilibrary.org/finance-and-investment/oecd-investment-policy-reviews-tunisia-2012/tunisia-s-policy-framework-for-investment_9789264179172-7-en#page3

http://www.mdptunisie.tn/ar/conference/images/pdf/about_tunisia_fr.pdf

https://assafirarabi.com/en/47396/2022/09/10/agriculture-in-tunisia-in-the-twenty-first-century-challenges-and-risks/

https://www.donneesmondiales.com/afrique/tunisie/index.php

https://www.worldometers.info/demographics/life-expectancy/

https://data.worldbank.org/country/tunisia

https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2022/09/06/tunisia-pressing-reform-needed-to-help-stabilize-public-finances

https://www.ceicdata.com/en/indicator/tunisia/government-debt--of-nominal-gdp

https://www.ceicdata.com/en/indicator/tunisia/current-account-balance

https://tradingeconomics.com/tunisia/competitiveness-index

https://www.webmanagercenter.com/2019/02/18/431219/tunisie-deterioration-de-lindice-de-confiance-des-menages/

https://www.jeuneafrique.com/1253781/politique/tunisie-ce-quil-faut-savoir-sur-la-premiere-ministre-najla-bouden/

https://www.banquemondiale.org/fr/country/tunisia/overview

https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2022/07/06/tunisias-new-constitution-will-only-worsen-its-political-crisis/

https://kapitalis.com/tunisie/2022/08/19/la-tunisie-planche-sur-son-plan-de-developpement-2023-2025/#:~:text=Le%20premier%20draft%20du%20plan,finances%20pour%20l'exercice%202023.

https://worldpopulationreview.com/country-rankings/safest-countries-in-the-world

https://www.travelguard.com/content/dam/travelguard/us/documents/corporate-travel/2022-aig-travel-security-risk-map.pdf

http://www.ins.tn/publication/indicateurs-de-lemploi-et-du-chomage-troisieme-trimestre-2022

http://www.ins.tn/communique-de-presse

https://cdn.odi.org/media/documents/GIZ_Tunisia_paper_210622_FR_sl_lw.pdf

https://www.trade.gov/country-commercial-guides/tunisia-trade-agreements

https://www.trade.gov/country-commercial-guides/tunisia-market-overview

https://www.webmanagercenter.com/2022/05/08/485539/tunisie-ide-forte-augmentation-des-investissements-etrangers/

https://www.tradesolutions.bnpparibas.com/fr/implanter/tunisie/investir