โอกาสในการลงทุนของไทยในธุรกิจสุขภาพในโมร็อกโก
โอกาสในการลงทุนของไทยในธุรกิจสุขภาพในโมร็อกโก
วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.พ. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
| 3,186 view
ขณะนี้ ทางการโมร็อกโกได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลป์ No. 131-13 ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเปิดสถานพยาบาล ระบุให้เอกชนสามารถลงทุนเปิดสถานพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ในโมร็อกโกเป็นหุ้นส่วน เป็นการเปิดทางให้มีการลงทุนในสถานพยาบาลเอกชนในประเทศมากขึ้น
-
ก่อนหน้านี้ การลงทุนในสถานพยาบาลเอกชนจะต้องกระทำโดยแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ในโมร็อกโกเท่านั้น ซึ่งทำให้สถานพยาบาลเอกชนในโมร็อกโกมีจำนวนน้อย มีราคาบริการแพง และมีขนาดเล็ก ไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ โดยมีคลินิกประมาณ 373 แห่งทั่วประเทศ (10,300 เตียง) และกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ภาคเหนือ (คาซาบลังกา ราบัต และแทนเจียร์) ในขณะที่ โรงพยาบาลของรัฐก็ไม่สามารถบริการแก่ประชาชนได้ทั่วถึง (โรงพยาบาลรัฐ 144 แห่ง รับผู้ป่วยได้ 22,000 เตียง)
-
ในมาตรา 60 ของ พรบ. ดังกล่าว อนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนเปิดสถานพยาบาลเอกชนเองได้ แต่จะต้องมีแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ในโมร็อกโกเป็นผู้บริหารในส่วนการแพทย์และการรักษา
-
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากทำเพื่อพัฒนาระบบการบริการด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน โดย รมต. สาธารณสุขโมร็อกโกมองว่า การเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถลงทุนในสถานพยาบาลได้สะดวกขึ้น จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และคุณภาพของการให้บริการ ซึ่งจะผลดีต่อระบบสุขภาพโดยรวมของโมร็อกโก และจะทำให้เกิดการกระจายของสถานพยาบาลไปสู่พื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศด้วยแล้ว ยังจะเป็นการสนับสนุนนโยบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีความพยายามที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในโมร็อกโก ที่มุ่งเน้นไปยังตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้สูงอายุต่างชาติอีกด้วย
-
กลุ่ม Tasweek Real Estate Development and Marketing ของยูเออีได้แถลงว่ามีแผนที่จะลงทุนประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในโมร็อกโก ในเมืองต่างๆ ได้แก่เมืองแทนเจียร์ อกาดีร์ และคาซาบลังกา โดยจะลงทุนสร้าง Healthcare Cities ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สำหรับสถานพยาบาล และที่พักอาศัย (บริษัทลงทุนสร้างโรงพยาบาล แต่ไม่ใช่ผู้บริหารโรงพยาบาล) โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มนี้ได้มีการลงทุนประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเปิด Marrakech Healthcare Cities ที่เมืองมาราเกซ ในพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร และขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนอย่างน่าพอใจ (http://www.tasweekuae.ae/en/Projects/Details/Marrakech-Health-Care-City#ad-image-2) นอกจากนี้ รมต. สาธารณสุขยังได้ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ มีเอกชนต่างชาติส่งคำขอในการลงทุนสถานพยาบาลในโมร็อกโกเป็นจำนวนมาก
-
เอกชนไทยมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับบริหารสถานพยาบาลในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้นการที่ทางการโมร็อกโกออก พรบ. ดังกล่าว และมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน่าจะเป็นประโยชน์ และเปิดโอกาสให้กับเอกชนไทยในการขยายการลงทุนมาในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการดึงดูดกลุ่มลูกค้าจากยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง เมื่อคำนึงถึงจุดที่ตั้งของโมร็อกโก เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของโมร็อกโก อย่างไรก็ดี สอท. เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายใหม่ และนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาท และมาตรการที่จะชักจูงผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น เอกชนไทยที่อาจสนใจเข้ามาลงทุนในสาขาดังกล่าวควรที่จะติดตามพัฒนาการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด