การจดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรส
243 view

1. การจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะกระทำได้เฉพาะในกรณีการจดทะเบียนระหว่างบุคคลสัญชาติไทย หรือระหว่างบุคคลสัญชาติไทยกับต่างชาติ และถือเป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ ผู้ที่จะทำการสมรสทั้งสองฝ่ายจะต้องมาลงนามด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และมีพยาน 2 คน โดยต้องนำหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชนของพยานมาด้วย

2. การขอจดทะเบียนสมรส กรุณาติดต่อนัดหมายล่วงหน้าทางอีเมล [email protected] หรือหมายเลขโทรศัพท์ 05 37 63 46 03/04 และจะต้องส่งเอกสารประกอบให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าทางอีเมล เพื่อตรวจสอบและเตรียมจัดพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า

*สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับจดทะเบียนสมรส หากเอกสารต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกเอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา*

3. ไม่มีค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสมรส

4. หลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนสมรส

4.1 คำร้องขอจดทะเบียนสมรส (ดาวน์โหลดตามไฟล์ข้างล่าง) ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อเรียบร้อยแล้ว

4.2 หนังสือเดินทางที่ไม่หมดอายุของคู่สมรส

4.3 บัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรส

4.4 ในกรณีที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนและหย่าแล้ว ต้องมีทะเบียนหย่ามาแสดงด้วย อนึ่ง หากเป็นสตรีที่หย่าร้างยังไม่ครบ 310 วัน จะต้องนำใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์มาแสดงด้วย

4.5 สำเนาทะเบียนบ้าน

4.6 ใบรับรองโสดตัวจริงที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน ของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย

4.6.1 สำหรับคนไทย ติดต่อขอรับใบรับรองความเป็นโสดได้ที่สำนักงานเขต/อำเภอที่ไทย หากเจ้าตัวไม่สามารถกลับไปดำเนินการเอง สามารถทำหนังสือมอบอำนาจกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ญาติไปติดต่อที่ไทยแทนได้ ทั้งนี้ ท่านจะต้องนำใบรับรองโสดไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ และผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศไทยด้วย เนื่องจากทางการต่างชาติอาจเรียกดูใบรับรองโสดของไทยในการดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้อง

 

*การดำเนินการด้านเอกสารกับหน่วยงานต่างชาติถือเป็นความรับผิดชอบของท่านเอง ขอให้ท่านตรวจสอบข้อมูลล่วงหน้ากับหน่วยงานท้องถิ่นต่างชาติเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้ เพื่อผลประโยชน์ของท่าน*

 

4.6.2 สำหรับคนต่างชาติ ได้แก่ โมร็อกโก ตูนิเซีย และมอริเตเนีย ซึ่งเป็นประเทศในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูตฯ หากใบรับรองโสดเป็นภาษาท้องถิ่น ต้องนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ และผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของโมร็อกโก ตูนิเซีย หรือมอริเตเนียก่อน

4.6.3 สำหรับคนต่างชาติ กรณีเป็นคนสัญชาติอื่น ๆ หากใบรับรองโสดเป็นภาษาท้องถิ่น ต้องนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ และนำไปผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ และสถานเอกอัครราชทูตประเทศนั้น ๆ ที่ตั้งอยู่ในโมร็อกโก ตูนิเซีย หรือมอริเตเนีย และสุดท้ายต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของโมร็อกโก ตูนิเซีย หรือมอริเตเนีย (ตามประเทศที่บุคคลดังกล่าวพำนักอยู่)

 

ข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ

1. คำนำหน้าชื่อหญิงไทยหลังการสมรส

หญิงไทยที่จดทะเบียนแล้ว จะสามารถใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย (ในต่างประเทศคือเจ้าหน้าที่กงสุล) ทั้งนี้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551

2. การใช้ชื่อสกุลหลังการสมรส

ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ชื่อสกุลหลังการสมรส ดังนี้

      (1) คู่สมรสสามารถใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมจากฝ่ายนั้นแล้ว (ไม่สามารถควบชื่อสกุลทั้งสองเข้าด้วยกันได้)

      (2) คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้ การตกลงดังกล่าวนี้ จะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ และคู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงข้อความในวรรคหนึ่งภายหลังก็ได้

      (3) เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายที่ใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

      (4) เมื่อการสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย ให้ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นได้ต่อไป แต่เมื่อจะสมรสใหม่ ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

 

ในระหว่างการจดทะเบียนสมรส คู่สมรสต้องแจ้งต่อนายทะเบียน (เจ้าหน้าที่กงสุล) ว่าตนประสงค์จะใช้ชื่อสกุลเดิมของตน หรือชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งนายทะเบียนจะบันทึกไว้บนหน้าบันทึกของทะเบียนสมรส

3. การดำเนินการภายหลังการสมรส

หลังจดทะเบียนสมรส หญิงไทยต้องไปยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการบุคคล (คำนำหน้าชื่อ ชื่อ สกุล) ในเอกสารทะเบียนราษฎร์ต่าง ๆ (ทะเบียนบ้านที่ตนมีชื่ออยู่ในประเทศไทย บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทาง) ให้เรียบร้อย

หากไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับไปดำเนินการในประเทศไทยด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนได้ โดยทำเป็นหนังสือมอบอำนาจผ่านการรับรองจากเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

การทำบัตรประชาชนใหม่ ผู้ร้องจำเป็นต้องไปดำเนินการด้วยตนเองที่อำเภอที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่สามารถมอบอำนาจให้กระทำการแทนกันได้ จึงควรต้องพิจารณาดำเนินการเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยในโอกาสแรก

 

หมายเหตุ

คนไทยที่ประสงค์จะสมรสกับคนโมร็อกโก ตูนิเซีย หรือมอริเตเนีย สามารถกระทำได้ 2 ทาง ได้แก่ 1. การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย และ 2. การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายโมร็อกโก ตูนิเซีย หรือมอริเตเนีย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 1459 กำหนดว่า "การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกันหรือฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนด ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้" ดังนั้น หากท่านได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายโมร็อกโก ตูนิเซีย หรือมอริเตเนียแล้ว ไม่ต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยซ้ำอีก โดยท่านสามารถนำทะเบียนสมรสโมร็อกโก/ตูนิเซีย/มอริเตเนีย ซึ่งผ่านการรับรองจากทางการโมร็อกโก/ตูนิเซีย/มอริเตเนีย และสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปขอจด บันทึกฐานะแห่งครอบครัว (คร. 22) ณ สำนักงานเขต/อำเภอในไทย

เอกสารประกอบ

คำร้องขอจดทะเบียนสมรส_2