ลักษณะตลาดสินค้าอาหารโมร็อกโก

ลักษณะตลาดสินค้าอาหารโมร็อกโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 เม.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,120 view

        

โอกาสด้านอาหารของไทยในโมร็อกโก

หากกล่าวถึงโมร็อกโกแล้ว หลายคนคงมีภาพของประเทศในแอฟริกาที่ดูลึกลับ น่าค้นหา และเป็นดินแดนแห่งแขกมัวร์ที่มีศิลปะ วัฒนธรรมที่เป็นอกลักษณ์ ตึกรามบ้านช่องแปลกตา แต่หากถามว่าไทยและโมร็อกโกมีอะไรคล้ายกันบ้าง หลายคนคงนึกไม่ออก เพราะนอกจากความห่างไกลระหว่างไทยและโมร็อกโกแล้ว ทั้งศาสนาและวัฒนธรรมยังแตกต่างกันอย่างมากอีกด้วย แต่ว่าในความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น ยังคงมีความเหมือน นั่นคือวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับอาหารการกินนั่นเอง

            อาหารมีบทบาทอย่างมากในวัฒนธรรมโมร็อกโก ทั้งในชีวิตประจำวัน และในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกับคนไทย คนโมร็อกโกภูมิใจในอาหารตัวเองมาก และอาหารโมร็อกโกก็มีการทำที่พิถีพิถัน ใช้เวลานานในการทำ (บางจาน ใช้เวลาทำทั้งวัน) โดยเฉพาะหากเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงแขกแล้ว คนโมร็อกโกจะตั้งใจทำเป็น และทำอาหารปริมาณมาก เพื่อเป็นการให้เกียรติกับแขก และจะคอยดูแลให้แขกรับอาหารให้ได้มากที่สุด โดยมีคำกล่าวว่า อาหารโมร็อกโกที่อร่อยที่สุดคืออาหารในบ้านของโมร็อกโกนั่นเอง

อาหารโมร็อกโกที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ คุสคุส (cous cous) ซึ่งถือเป็นอาหารประจำชาติ (คุสคุสทำจากแป้งสาลี มีลักษณะเหมือนเกล็ดขนมปัง นำไปนึ่ง เวลารับประทานจะแต่งหน้าด้วยเนื้อหรือแกะและผักซึ่งเคี่ยวจนนิ่ม ราดพร้อมน้ำซุป) และเป็นอาหารที่ชาวโมร็อกโกจะรับประทานหลังสวดวันศุกร์แล้ว นอกจากนี้แล้ว ยังมีทาจีน (Tajine)                อาหารประเภทอบๆ ตุ๋นๆ ก่อนนำมาเรียงให้สวยงามในจานทรงกลมที่มีฝาปิดทรงโดมหัวแหลมซึ่งเรียกว่า ทาจีน จนเป็นที่มาของชื่ออาหาร ทาจีนที่ได้รับความนิยมที่สุดเห็นจะได้แก่ทาจีนไก่ ตุ๋นและอบกับมะนาวดอง มะกอกดอง และทาจีนเนื้อตุ๋น โรยหน้าด้วยลูกพรุนแห้ง  และงาขาว    

ลักษณะตลาดด้านอาหารในโมร็อกโก

ด้วยความที่ชาวโมร็อกโกมีความภูมิใจกับอาหารของตัวเองมาก ทำให้อาหารชาติอื่นๆ ในโมร็อกโกยังมีอยู่น้อย ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายส่วนมากคืออาหารจากยุโรป เช่นอาหารสเปน ซึ่งมีชายแดนติดกัน อาหารฝรั่งเศส ประเทศเจ้าอาณานิคมเก่า และอาหารอิตาเลียน ส่วนอาหารเอเชียนั้น อาจด้วยระยะทางอันห่างไกล ทำให้ยังมีอยู่น้อย ไม่แพร่หลายทั้งในแง่ร้านอาหาร วัตถุดิบและเครื่องปรุง ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะโมร็อกโกเริ่มให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว และมีความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นกับประเทศในเอเชีย ทำให้มีชาวเอเชียอาศัยในโมร็อกโกมากขึ้น แต่อาหารเอเชียก็ถือว่ายังไม่ใช่อาหารที่อยู่ในกระแสหลักของโมร็อกโก จำกัดอยู่ในระดับบน-กลาง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังคงไม่คุ้นเคยกับเครื่องปรุงที่แปลกใหม่ วัตถุดิบและเครื่องปรุงมีอยู่น้อย หายาก ไม่หลากหลาย และมีราคาแพง

อาหารที่ขายในโมร็อกโก จะต้องมีฉลากเป็นภาษาอาหรับหรือฝรั่งเศส และควรมีเครื่องหมายฮาลาล ถึงแม้จะไม่ค่อยเคร่งครัดนัก นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ของโมร็อกโกแจ้งว่า อาหารควรแบ่งเป็นซอง/ขวดขนาดเล็ก ใช้ได้หมดในครั้งเดียวหรือในเวลาไม่นาน เพราะชาวโมร็อกโกไม่นิยมซื้ออาหารเก็บไว้ ชอบซื้อวันต่อวัน

โอกาสอาหารไทยในโมร็อกโก

ถึงแม้ว่าตลาดด้านอาหารเอเชียในโมร็อกโกจะเพิ่งเริ่มต้น แต่อาหารไทยและอาหารเอเชีย ก็เริ่มเป็นที่รู้จัก และนิยมในโมร็อกโกมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับกลาง-บน เห็นได้จากจำนวนร้านอาหารเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและไทยที่เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ มีร้านอาหารไทยแท้ๆ ใช้พ่อครัวจากประเทศไทยมีอยู่ 7 แห่ง และมีร้านอาหารญี่ปุ่น/ไทยอยู่ทั่วไป ในขณะที่สินค้าอาหารจากเอเชียก็เริ่มขยายตัวและได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (อินโดหมี่ของอินโดนีเซีย และจากจีน) ซีอิ๊ว วุ้นเส้น ข้าวสาร ผักผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง เป็นต้น โดยในส่วนสินค้าไทยนั้น ขณะนี้ มีการนำเข้าพริกแกง น้ำปลา ซอสหอยนางรม ข้าวสาร (โดยเฉพาะข้าวนึ่ง) น้ำสัปปะรดแท้ ผักผลไม้กระป๋องเช่น หน่อไม้ น้ำกระทิ และผลไม้รวม และผลไม้แห้งต่างๆ เป็นต้น โดยบางส่วนนำเข้าโดยตรงจากไทย บางส่วนถูกนำเข้ามาจากยุโรป (หากเป็นการลักลอบนำเข้าเพื่อขายในตลาดมืดจะผ่านทาง Ceuta ซึ่งเป็นดินแดนสเปนในภูมิภาคแอฟริกา) 

จากข้อมูลที่ได้จากนักธุรกิจนำเข้าด้านอาหารโมร็อกโกต่างๆ สรุปได้ว่า ตลาดสินค้าอาหารเอเชียเริ่มขยายตัวในโมร็อกโก เพราะเศรษฐกิจโมร็อกโกเติบโตมากขึ้น เป็นผลให้มีชนชั้นกลางซึ่งแสวงหา และเปิดรับสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มากขึ้น และขณะนี้ นักธุรกิจด้านอาหารหลายๆ รายก็พยายามที่จะหาสินค้าใหม่ๆ แนะนำสู่ตลาดในโมร็อกโก โดยมองว่า สินค้าด้านอาหารของไทยมีคุณภาพ ความปลอดภัย และมาตรฐานที่ดีกว่าของจีน

โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจ และสถานเอกอัครราชทูตได้ทดลองตลาดในโมร็อกโก และเห็นว่ามีศักยภาพ ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำและผลไม้เมืองร้อนกระป๋อง ขนมขบเคี้ยวต่างๆ น้ำจิ้มต่างๆ เช่นซอสพริก น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มไก่ และบ๊วยเจี่ย เป็นต้น  ข้าวสาร เส้นหมี่และผลิตภัณฑ์จากข้าว

  • สับปะรดกระป๋อง/ผลไม้กระป๋อง/น้ำผลไม้ รวมถึงน้ำมังคุดเข้มข้น

ลักษณะตลาด  โมร็อกโกนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยอยู่แล้ว โดยส่วนมากใช้ยี่ห้อท้องถิ่น คู่แข่งสำคัญคือจีน อย่างไรก็ดี สินค้าของไทยได้เปรียบในแง่ความน่าเชื่อถือทางด้านคุณภาพ แต่ราคาอาจแพ้สินค้าจากจีนอยู่บ้าง ในส่วนของน้ำผลไม้นั้น โมร็อกโกเป็นประเทศผู้ผลิตส้ม แอปเปิ้ล และผลไม้เมืองหนาวส่งออกทั้งในลักษณะสด และแปรรูปอยู่แล้ว ดังนั้น ตลาดของไทยน่าจะเป็นผลไม้เมืองร้อนที่โมร็อกโกไม่สามารถเพาะปลูกได้มากกว่า

ผู้นำเข้า  ผู้นำเข้าหลายรายแสดงความสนใจนำเข้าผลไม้และน้ำผลไม้กระป๋องจากไทย โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน เช่น เงาะ สัปปะรด ลิ้นจี่ มะละกอ มังคุด เป็นต้น

ผู้บริโภค รู้จักผลไม้กระป๋องเป็นอย่างดี แต่ส่วนมากไม่รู้ความแตกต่างระหว่างสินค้าไทย และจีน ราคายังเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจซื้อผลไม้กระป๋อง

สรุป/คำแนะนำ ผลไม้กระป๋องและน้ำผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่ไม่มีในโมร็อกโกมีศักยภาพในตลาดโมร็อกโก โดยอาจเน้นตลาดกลาง-บน เนื่องจากสินค้าของไทยยังมีราคาสูงมากกว่าสินค้าจากจีน

  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ลักษณะตลาด ขณะนี้ในตลาดร็อกโกมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากอินโดนีเซีย (Indomie) ผลิตในซาอุดิอารเบีย ราคาประมาณห่อละ 3.50 ดีร์ฮาม และจากจีน ห่อละประมาณ 2-3 ดีร์ฮาม รสบะหมี่ได้แก่ รสผัก รสเนื้อ รสไก่ รสทะเล คนโมร็อกโกรู้จัก และเริ่มนิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ยังถือเป็นอาหารที่แพงอยู่ (ขนมปังก้อนละ .50 -1 ดีร์ฮาม) สำหรับคนทั่วไป มีขายอยู่ในซุปเปอร์มาร์เกตเท่านั้น

ผู้นำเข้า สนใจนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากไทย แต่ต้องการให้ลดความเผ็ดลง

ผู้บริโภค  ส่วนมากที่ให้ชิมจะชอบ โดยเฉพาะรส หมี่โกเร็ง และรสต้มยำ ถึงแม้ว่าหลายคนคิดว่าเผ็ดเกินไป (ไม่ได้ใส่พริกในซองเพิ่ม) ราคาที่ซื้อได้ประมาณ 2-5 ดีร์ฮาม

สรุป/คำแนะนำ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าไทยที่มีศักยภาพในโมร็อกโก  แต่ตลาดจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยการบริโภคให้เหมาะกับวิถีชีวิตที่มีเวลาน้อยลง โดยอาจเน้นรสชาติที่แตกต่างกับที่มีอยู่แล้วในตลาดเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และจำเป็นต้องมีเครื่องหมายฮาลาล

  • น้ำจิ้ม เช่น ซอสพริก น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มสุกี้

ลักษณะตลาด ซอสน้ำจิ้มที่นิยมในโมร้อกโกคือซอสมะเขือเทศ และซอสพริกแบบตะวันตก (ขวดเล็กๆ) แต่รสเผ็ดน้อย  นอกจากนี้ ยังมีซอสพริกศรีราชาของเวียดนามขายอยู่บ้างในร้าน high-end

ผู้นำเข้า แสดงความสนใจนำเข้าซอสจิ้มของไทย แต่ต้องการความหลากหลาย เนื่องจากตลาดโมร็อกโกยังคงเล็กมาก

ผู้บริโภค จากการให้ผู้บริโภคโมร็อกโกชิมซอสจิ้มแบบไทย ได้แก่ ซอสพริก น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มสุกี้ (แบบกวางตุ้ง) น้ำจิ้มบ๊วยเจี่ย น้ำจิ้มปอเปี้ยะเวียดนาม และน้ำจิ้มซีฟู้ด ส่วนมากชอบ และสามารถรับประทานได้ (แต่ในปริมาณจำกัด)

สรุป/คำแนะนำ ซอสน้ำจิ้มของไทยน่าจะมีศักยภาพในตลาดโมร็อกโก อย่างไรก็ดี สอท. เห็นว่าหากประเทศไทย สามารถเพิ่มชนิดสินค้าให้หลากหลายเพื่อนำเข้าตลาดโมร็อกโกจะเป็นประโยชน์นอกจากนี้ต้องมีการระบุสัญลักษณ์ฮาลาลอย่างชัดเจน

  • ข้าว

ลักษณะตลาด     - ภาษีนำเข้าข้าวมาโมร็อกโกสูงถึงร้อยละ 49 และมีภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 20 ทำให้ราคาข้าวนำเข้าจากต่างประเทศสูงกว่าข้าวที่ผลิตในประเทศมากกว่าครึ่ง ( ข้าวหอมมะลิ 36 ดีร์ฮาม/ กก. ข้าวบัสมาติ 50 ดีร์ฮาม/กก. และข้าวในประเทศ 14 ดีร์ฮาม/ กก.)

                     - อาหารหลักชาวโมร็อกโกคือขนมปัง

                     - คนโมร็อกโกนิยมใช้ข้าวนึ่งในการประกอบอาหาร โดยเป็นส่วนประกอบของสลัด หรืออาหารเคียง           

ผู้นำเข้า  สนใจนำเข้าข้าวจากไทย

ผู้บริโภค รู้จักข้าวนึ่งไทย

อุปสรรค

ถึงแม้ว่าตลาดอาหารเอเชียในโมร็อกโกกำลังเติบโตขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่จะก้าวกระโดด ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของชาวโมร็อกโกเองที่ยังคงชื่นชอบอาหารพื้นเมืองอยู่ และราคาอาหารที่ถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับการอาหารท้องถิ่น ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลโมร็อกโกพยายามที่จะลดการนำเข้าสินค้าต่างๆ  และสนับสนุนการบริโภคสินค้าภายใน จึงได้ตั้งอัตราภาษีสูง (ภาษีนำเข้า VAT สำหรับสินค้านำเข้า และอื่นๆ) โดยอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 60 ของราคาสินค้า รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปได้ยาก ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีกรอบความตกลงด้านเศรษฐกิจและการค้ากับโมร็อกโก ซึ่งทำให้ราคาสินค้าจากไทยสูง นอกจากนี้ นักธุรกิจโมร็อกโกส่วนมากต้องการสินค้า ที่หลากหลายในการส่งสินค้าหนึ่งครั้ง ซึ่งนักธุรกิจจีนส่วนมากสามารถที่จะดำเนินการให้ได้

การดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูต

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต และสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงไคโร ได้พยายามดำเนินการส่งเสริมอาหารไทย และเครื่องปรุง/วัตถุดิบไทย มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยมีนโยบายประชาสัมพันธ์อาหารไทยในหมู่คนระดับบน-กลาง และสินค้าประเภทเครื่องปรุง/วัตถุดิบให้กับชาวโมร็อกโก โดยผ่านกิจกรรมเช่นการจัดงาน Thai Food Tasting ให้กับนักธุรกิจ สื่อมวลชน และเชฟชื่อดังชาวโมร็อกโก เพื่อแนะนำอาหารและเครื่องปรุงไทยให้กับบุคคลดังกล่าว และเป็นการเผยแพร่อาหารไทย/เครื่องปรุงไทยในภาพกว้าง การเชิญผู้จัดรายการอาหารที่มีชื่อเสียงของโมร็อกโกเดินทางไปไทย เพื่อทำสารคดีเกี่ยวกับอาหารไทยเผยแพร่ในโมร็อกโก และการเข้าร่วมงานเกษตรแฟร์ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้ดำเนินการแนะนำ และให้ทดลองชิมอาหาร/เครื่องปรุงไทยต่างๆ เพื่อเป็นการแนะนำอาหาร/เครื่องปรุงเหล่านั้นสู่ชาวโมร็อกโก และทดลองศักยภาพในการทำตลาดไปในคราวเดียวกัน

โดยเฉพาะเกี่ยวกับการแนะนำวัตถุดิบ/เครื่องปรุงในตลาดโมร็อกโกนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ เล็งเห็นว่า การจะขยายตลาดให้กับสินค้าไทยได้นั้น จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการแนะนำการใช้เครื่องปรุงดังกล่าวในอาหารโมร็อกโก เช่น การใช้ซอสพริกกับอาหารประเภทปิ้งย่าง หรือการนำข้าวไปใส่ในอาหารพื้นเมืองเป็นต้น เพราะจะทำให้ได้ตลาดที่กว้าง และยั่งยืน[1]  โดยสถานเอกอัครราชทูตได้ดำเนินการร่วมกับเชฟในโมร็อกโก และผู้จัดรายการอาหารโมร็อกโก ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการไปพร้อมๆ กับการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจที่สนใจนำเข้าอาหารไทย และแนะนำอาหารไทย/เครื่องปรุงไทยให้รู้จัก โดยที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำนักธุรกิจด้านอาหารโมร็อกโกเดินทางไปไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Thaifex ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก และเท่าที่ทราบมา เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้หลายบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาสั่งซื้อสินค้าจากไทยอยู่ และการจัดงาน Thai Food Tasting เป็นต้น

ถึงแม้ว่าตลาดอาหารเอเชียในโมร็อกโกยังคงเล็กอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่กำลังจะเติบโตขึ้นตลาดหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของโมร็อกโก การจะเข้ามาบุกตลาดโมร็อกโกจึงต้องใช้ความอดทนแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องทำควบคู่กันไประหว่างการให้ความรู้กับตลาดถึงการใช้เครื่องปรุง/วัตถุดิบจากไทย เพื่อนำไปผสานกับอาหารพื้นเมือง และการเข้าหาภาคธุรกิจด้านอาหารของโมร็อกโก           ซึ่งเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นอาหาร และเครื่องปรุงจากไทยเข้ามามีบทบาทในตลาดโมร็อกโกมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

 

 



[1] มีกรณีศึกษาจากการนำเข้าวุ้นเส้น (จากจีน) ของบริษัท ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นสินค้าใหม่ แต่ได้ถูกนำมาเป็นเครื่องปรุงในปาติยาทะเล  (อาหารพื้นเมือง คล้ายปอเปียะ) และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจนกลายมาเป็นอาหารจานหลัก ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของชาวโมร็อกโก 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ