ความตกลงเขตการค้าแบบสมบูรณ์แบบระหว่างสหภาพยุโรปกับโมร็อกโก

ความตกลงเขตการค้าแบบสมบูรณ์แบบระหว่างสหภาพยุโรปกับโมร็อกโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,050 view
  1. Accord Libre-échange Complet et Approfondi (ALECA) เป็นความตกลงที่ครอบคลุมการค้า การลงทุน และการบริการ ระหว่างโมร็อกโกและ EU โดยเสนอที่จะจัดทำ คตล. ดังกล่าวกับประเทศในแอฟริกาเหนือ 4 ประเทศซึ่งเป็นสมาชิก คตล. Agadir[1] โดยขณะนี้ คตล. กับโมร็อกโกมีความคืบหน้าที่สุด
  2. ALECA มีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ด้านพาณิชย์ (การค้า การลงทุน การบริการ) ระหว่างโมร็อกโก และ EU ให้ครอบคลุม และลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยเร่งรัด และต่อยอดความตกลงด้านเศรษฐกิจที่ EU มีกับประเทศโมร็อกโกอยู่แล้วให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรวมตลาดโมร็อกโกและ EU เข้าด้วยกัน โดยการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี การปรับเปลี่ยนพิธีการศุลกากรให้ง่ายขึ้น  สนับสนุนภาคบริการ ปกป้องการลงทุนโดยต่างชาติ และปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการการพาณิชย์ให้เข้ากับและเทียบเท่ากับระเบียบของ EU  
  3. โมร็อกโก และ EU มีความตกลงที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการพาณิชย์อยู่แล้ว เช่น EU-Moroccan Association Agreement[2] ซึ่งลงนามในปี 2000เพื่อดำเนินการเปิดเสรีการค้าระหว่างกัน และความตกลงด้านเกษตรกรรม ซึ่งลงนามในปี 2012 ทำให้สินค้าเกษตรโมร็อกโกกว่าร้อยละ 98 สามารถเข้าสู่ตลาด EU ได้โดยไม่เสียภาษี ในขณะที่สินค้าเกษตรของ EU จะสามารถทยอยนำเข้าโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า (ระยะเวลา 10 ปี) นอกจากนี้ ในปี 2008 โมร็อกโกได้รับสถานะ advance status จาก EUซึ่งช่วยเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น
  4. อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาโมร็อกโกยังไม่สามารถส่งออกสินค้าเข้าสู่ EU ได้อย่างเต็มที่แม้ว่าจะได้ปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เข้ากับ EU ไปบ้างแล้ว เนื่องจากติดขัดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี เช่น ระเบียบมาตรฐานสินค้า มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งโมร็อกโกมีมาตรฐานที่ต่ำกว่า ALECA ทำให้โมร็อกโกต้องปรับกฎระเบียบต่างๆ ในด้านการพาณิชย์ให้เข้ากันกับของ EU (ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าของโมร็อกโกมีมาตรฐานเท่ากับสินค้าของ EU ไม่เป็นอุปสรรคในการส่งออก)
  5.  สภา EU ได้มีมติริเริ่ม ALECA วันที่ 14 ธ.ค. 2011 โดยโมร็อกโก และ EU ได้เริ่มการเจรจาในปี 2013 ที่ผ่านมามีการเจรจามาแล้ว สี่รอบ และจะมีการเจรจารอบที่ห้าประมาณต้นปีหน้า อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาการเจรจา เพราะขึ้นอยู่กับพัฒนาการในเรื่องต่างๆ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบของ ALECA ต่อโมร็อกโกอยู่ โดย EU ได้เร่งรัดการการจัดทำ ALECA มากขึ้น ภายหลังจากที่เกิด Arab Spring ในภูมิภาค เพื่อเป็นกลยุทธลดแรงกดดันที่เกิดจาก Arab spring โดยการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนในภูมิภาค
  6. ในการเจรจา ALECA EU ได้เจรจากับทุกๆ ฝ่ายในรัฐบาลโมร็อกโก และทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม สมาคมการค้าต่างๆ องค์กรเกี่ยวกับการพัฒนา ศก. สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นต้น ซึ่งทำให้ ALECA พัฒนาไปได้ค่อนข้างเร็ว และเป็นการประชาสัมพันธ์ และเตรียมความพร้อมให้กับสังคมโมร็อกโกไปในตัว
  7. EU จะมีส่วนในการสนับสนุนโมร็อกโกเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นตลาดเดียวกับ EU โดยแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือระดับรัฐบาล ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ มาตรฐานต่างๆ ให้เข้ากับ EU เช่นมาตรฐานอุตสาหกรรม กฎระเบียบเกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการทางการเงิน เป็นต้น และในระดับภาคเอกชน ซึ่งธนาคารของ EU จะให้เงินกู้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของ EU  
  8. ความตกลงดังกล่าว ไม่ได้ให้สถานะโมร็อกโกเป็นสมาชิก EU แต่เน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเป็นตลาดเดียวกัน โดยความตกลงฯ จะไม่ครอบคลุมเรื่องระเบียบเข้าเมือง แต่มีการเจรจาในเรื่อง mobility partnership ให้กับนักธุรกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัย และ จนท. ของรัฐ
  9. ALECA จะครอบคลุมความสัมพันธ์ทาง ศก ระหว่างทั้งสองภาคี ทั้งเรื่องการแลกเปลี่ยนการค้า การแลกเปลี่ยนบริการ (โทรคมนาคม ประกันภัย ธนาคาร เป็นต้น) และการแลกเปลี่ยนการลงทุน  ยกเว้นในสาขาสุขภาพ และการศึกษา
  10. สินค้าที่โมร็อกโกนำเข้าจาก EU มากที่สุดคือเครื่องจักร อุปกรณ์ขนส่ง สินค้าบริโภค ผลิตภัณฑ์เคมี และน้ำมัน ในขณะที่ EU นำเข้าเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เกษตร เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งจากโมร็อกโก

ความคิดเห็น

  1. ผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของโมร็อกโกคือการที่สามารถส่งออกสินค้าไป EU และประเทศที่สามที่มีมาตรฐานสินค้าสูงเทียบเท่า EU ได้มากขึ้น ในขณะที่ EU สามารถเข้ามาลงทุนในโมร็อกโกได้สะดวก และมีความมั่นคงขึ้นจากระเบียบ และกฎหมายต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนให้มีมาตรฐานดังเช่นยุโรป เช่นกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น โดยมีการคาดการณ์ จาก Ecorys (สถาบันที่ปรึกษาของเนเธอแลนด์) ว่า ในระยสั้น ALECA จะทำให้โมร็อกโกมีรายได้จากความตกลงดังกล่าว 1.15 พันล้านยูโนต่อปี และในระยะยาวน่าจะส่งผลให้ GDP ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.6 และส่งออกมากขึ้นร้อยละ 15 ในขณะที่รายได้ของ EU น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 834 ล้านยูโรต่อปีจากความตกลงนี้  
  2. การพัฒนากฎหมายและระเบียบการค้า การลงทุนของโมร็อกโกให้เทียบเท่ากับของ EU อาจส่งผลกระทบถึงการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สาม โดยการเพิ่ม Non-tariff barrier ให้กับสินค้านำเข้ามาสู่โมร็อกโก โดยเฉพาะสินค้าที่ยังไม่ได้มาตรฐาน EU  ซึ่ง สอท. เห็นว่า สินค้าราคาถูกจากจีนน่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่น่าที่ผ่านมาตรฐานของ EU ซึ่งจะเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่มีมาตรฐานที่สูงกว่า และสามารถส่งเข้าไปในตลาด EU ได้อยู่แล้ว


[1] Agadir Agreement เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศในแอฟริกาเหนือ 4 ประเทศได้แก่โมร็อกโก จอร์แดน อิยิปต์ และตูนีเซีย

[2] เป็นความตกลงที่เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง EU และโมร็อกโกทั้งหมด รวมถึงด้านเศรษฐกิจด้วย