อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโมร็อกโก

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโมร็อกโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,125 view

 

  1. Moroccan Cinematographic Center (CCM) เป็นหน่วยงานเอกชนภายใต้กระทรวงข่าวสารโมร็อกโกที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริม อก. ภาพยนตร์ในโมร็อกโก โดยมีหน้าที่พิจารณาคำขอการถ่ายทำในโมร็อกโก การออกใบอนุญาตการถ่ายทำ  การออกบัตรประจำตัวให้กับคณะถ่ายทำ และการออกประกาศนียบัตรการใช้ภาพยนตร์ เป็นต้น
  2. โมร็อกโกยังไม่มีนโยบาย Tax Incentive ให้กับบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ อก. ยังไม่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่นแอฟริกาใต้ ฮังการี และตุรกีเป็นต้น อย่างไรก็ดี โมร็อกโกมีนโยบายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 20 ให้กับการถ่ายทำภาพยนตร์ (ยังไม่มีสำหรับการถ่ายทำโฆษณา) สำหรับค่าใช้จ่ายสิ่งของและบริการที่เกิดขึ้นในโมร็อกโก การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าอุปกรณ์และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำ นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนด้านอื่นๆ หากได้รับการต่อรองและร้องขอเช่น การลดราคาค่าขนส่งโดย Royal Air Maroc ยกเว้นค่าธรรมเนียมการถ่ายทำนอกสถานที่ และบางรายอาจได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธ ยุทโธปกรณ์จากกองทัพโมร็อกโกเมื่อมีการถ่ายทำเกี่ยวกับสงครามอีกด้วย เช่นเรื่อง Black Hawk Down และได้รับอนุญาตให้ปิดถนนสายหลักเพื่อถ่ายทำ เช่น Mission Impossible 5 เป็นต้น
  3.  ปัจจัยหลักๆ ที่ดึงดูดบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์มาที่โมร็อกโกคือ ค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ เช่นดูไบ ความอิสระในการถ่ายทำ (ไม่ต้องระวังมากในประเด็นอ่อนไหว) ความยืดหยุ่นของทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคนโมร็อกโก ความปลอดภัยและความมั่นคงในประเทศ  และความหลากหลายของสถานที่ถ่ายทำ ตั้งแต่ทะเลทราย ชายหาด และเทือกเขา ความเป็นมุสลิมสายกลางและไม่เคร่งทางศาสนา  โดยตั้งแต่มีเหตุการณ์ Arab Spring ในแถบตะวันออกกลาง บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ตะวันตกหันมาทำการถ่ายทำในโมร็อกโกมากขึ้น
  4. ส่วนมากการถ่ายทำจะอยู่ที่เมือง Ouarzazate ซึ่งเป็นเมืองชายขอบทะเลทราย และ Marrakech โดยใช้เป็นฉากสำหรับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป เช่นประเทศมาลีในภาพยนตร์เรื่อง  American Odyssey อิหร่านในละครชุด Homeland และกรุงแบกแดด ในภาพยนตร์เรื่อง American Sniper เป็นต้น โดยมีการสร้างสตูดิโอถาวรในเมือง Ouarzazate ด้วย
  5. เพื่อสนับสนุนการเติบโตของ อก. ภาพยนตร์ โมร็อกโกได้มีการจัดกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวเนื่องขึ้น เช่น Tangier’s National Film Award  และ International Film of Marrakech  โดยมีผู้มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์นานาชาติเข้าร่วมงาน  นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรด้านที่เกี่ยวข้องขึ้น ได้แก่  Marrakech’s Superior School of Visual Art, ISMAC ที่กรุงราบัต และเมือง Ouarzazate เป็นต้น
  6. โมร็อกโกและอังกฤษได้ลงนาม Co-Production Treaty ซึ่งทำให้บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศจะได้รับผลประโยชน์ดังเช่นบริษัทฯ สัญชาตินั้นได้รับ เช่น ผู้ผลิตภาพยนตร์อังกฤษจะได้รับการยกเว้นภาษีในโมร็อกโก ในขณะที่ผู้ผลิตโมร็อกโกจะสามารถขอ UK’s Film Tax Relief บและสามารถขอ BFI Film Fund ได้ด้วย
  7. อก. ภาพยนตร์ของโมร็อกโกกำลังเติบโต แต่ก็ไม่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วดังที่รัฐบาลได้ตั้งความหวังให้บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ใช้โมร็อกโกเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ตลอดทั้งเรื่องไม่ใช่เพียงแค่บางส่วน เนื่องจากมีอุปสรรคคือการที่ประเทศยังไม่มี Tax Incentive ให้กับบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ ซึ่งทำให้หลายบริษัทหันไปใช้สถานที่อื่นๆ นอกจากนี้ การที่บุคลากรที่พูดภาษาอังกฤษยังมีอยู่น้อย ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเติบโตของ อก. ภาพยนตร์โมร็อกโก อย่างไรก็ดี การที่หน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนการถ่ายทำ และค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง ก็ทำให้โมร็อกโกสามารถดึงดูดบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ได้จำนวนหนึ่ง