การลงทุนด้านพลังงานในโมร็อกโก

การลงทุนด้านพลังงานในโมร็อกโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,390 view
  1. การสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ

1.1 บริษัทน้ำมันระหว่างประเทศขนาดใหญ่หลายบริษัท ได้เข้าไปขุดเจาะและสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ของโมร็อกโก อาทิ บริษัท BP บริษัท Chevron และบริษัท Cairn Energy ได้ทำการสำรวจและขุดเจาะหาแหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของโมร็อกโก  ในขณะที่ บริษัท Pura Vida Energy ของออสเตรเลีย ทำการสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่ Toubkal ในเทือกเขาแอตลาส และปรากฏข่าวว่ามีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

1.2 เมื่อต้นปี 2558 บริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ 2 ราย คือ บริษัท Limerick และบริษัท Gulfsand Petroleum ได้ประกาศข่าวการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติคุณภาพดีในโมร็อกโก อย่างไรก็ดีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของโมร็อกโกยังมิได้ยืนยันข่าวดังกล่าว เนื่องจากในอดีตรัฐบาลโมร็อกโก เคยมีประสบการณ์ในกรณีคล้ายคลึงกัน คือบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ประกาศการค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ในโมร็อกโก ทำให้รัฐบาลและประชาชนตื่นเต้นยินดี แต่ในภายหลังพบว่า บริษัทฯ ออกข่าวการค้นพบแหล่งน้ำมันในลักษณะเกินจริง เพื่อเพิ่มมูลค่าหุ้นของบริษัท ทำให้รัฐบาลโมร็อกโกเสียหน้าเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นรัฐบาลโมร็อกโกมีความระมัดระวังในการให้ข่าวเกี่ยวกับการค้นพบแหล่งพลังงานในประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลโมร็อกโกยังคงให้สัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซในประเทศกับบริษัทน้ำมันระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยขณะนี้ บริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันมากกว่า 34 บริษัท เช่น Total และ Chevron กำลังทำการสำรวจหาน้ำมันในพื้นที่ต่างๆ ของโมร็อกโกทั้งบนบก และชายฝั่ง ทั้งนี้ โมร็อกโกมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่ค้นพบแล้วประมาณ 100 ล้านคิวบิกเมตร

 

2. การลงทุนด้านพลังงานทางเลือก

  1. ในปี 2009 รัฐบาลโมร็อกโกได้ประกาศ Moroccan Solar Plan เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศ เนื่องจากโมร็อกโกเป็นประเทศที่มีแสงอาทิตย์มากกว่า 3,000 ชั่วโมง/ปี  โดยแผนดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ได้มากกว่าร้อยละ 40 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศ โดยมุ่งให้ผลิตได้ 2,000 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2020 จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 5 แห่ง คือ Ouarzazate, Ain Beni Mathar, Foum Al Oued, Boujdour และ Sebkhat Tah

2.2  โมร็อกโกมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดำเนินการแล้วที่เมือง Ain Beni Mathar ใกล้เมือง Oudja ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับสเปน โรงไฟฟ้าดังกล่าวผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 50 และพลังงานไอน้ำร้อยละ 50 มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 200-250 เมกกะวัตต์               

2.3 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2559 สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก เป็นประธานในพิธีเปิด

ใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NOOR I และเป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NOOR II และ NOOR III ที่อำเภอ Ghessate  เมือง Ouarzazate ทางตอนใต้ของโมร็อกโก

  1. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NOOR (ตามโครงการจะประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน  4

โรง คือ NOOR I – IV) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,000 เฮกตาร์ (ประมาณ  18,750 ไร่ มีพื้นที่ใหญ่กว่ากรุงราบัต) โดยโรงไฟฟ้า NOOR I มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 160 เมกกะวัตต์ และสามารถเก็บกักกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในยามที่ไม่มีแสงอาทิตย์ได้ 3 ชั่วโมง โรงไฟฟ้า NOOR II จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 200 เมกกะวัตต์ และสามารถเก็บกักกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ได้ถึง 7 ชั่วโมง และโรงไฟฟ้า NOOR III จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ และสามารถเก็บกักกระแสไฟฟ้าไว้ได้ 7 – 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้า NOOR IV ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ Solar Cells แล้ว จะทำให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NOOR ทั้งโครงการสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 580 เมกกะวัตต์ โดยใช้งบประมาณในการลงทุนในโครงการนี้ จำนวน 24 พันล้านดีร์ฮาม แต่ไม่รวมถึงมูลค่าในการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของโมร็อกโกเป็นผู้รับผิดชอบ

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Concentrated Solar Power (CSP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดย International Energy Agency คาดว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งโลกร้อยละ 11 จะมาจากการผลิตด้วยเทคโนโลยี CSP โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีแสงแดดจัด และมีศักยภาพในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากการใช้เทคโนโลยีนี้ไปยังยุโรปอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทที่เป็นผู้ก่อสร้างและดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าในโครงการ NOOR นี้ คือ กลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน (Consortium) ACWA Power จากซาอุดี อาระเบีย โดยดำเนินการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในระบบ Independent Power Producer (IPP)

2.5 ปัจจัยที่ดึงดูดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโมร็อกโก ได้แก่ความสามารถของรัฐบาลโมร็อกโกในการหาแหล่งเงินกู้ระยะยาว และดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลในการสนับสนุนให้เพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกในประเทศ ทำให้การลงทุนในธุรกิจนี้ในโมร็อกโกมีต้นทุนต่ำลง และมีระยะเวลาการคุ้มทุนเร็วขึ้น

2.6 สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนั้น โดยที่โมร็อกโกมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 3,500 กม. ทำให้มีศักยภาพในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากลมเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงได้ประกาศโครงการ Moroccan Integrated Wind Energy Project ระยะเวลา 10 ปี มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมจาก 280 เมกกะวัตต์ ในปี 2010 เป็น 2,000 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2020 ด้วยงบประมาณ 31.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้โมร็อกโกยังได้จัดโครงการ EnergiPro เพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนลงทุนสร้างกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และขายพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินให้แก่ทางการอีกด้วย

                        2.7 บริษัท Masdar ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานจากอาบูดาบีมีโครงการที่จะเข้าไปลงทุนด้านพลังงานทางเลือกใน จอร์แดน อียิปต์ และโมร็อกโก โดยคาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการพลังงานในภูมิภาคแอฟริกาเหนือจะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าภายในปี 2030 และพลังงานที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นพลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความสนใจที่จะลงทุนในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และจากพลังงานลม เนี่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีความทันสมัยขึ้น และมีราคาต่ำลง ทำให้การลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกมีผลกำไรมากขึ้น

                        3. ปัญหา อุปสรรค และโอกาส ที่ผู้ประกอบการไทยอาจประสบในการขยายการค้า การลงทุนพลังงานในต่างประเทศ

3.1 การที่บริษัทน้ำมันให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนสำรวจและขุดเจาะหาแหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในโมร็อกโกมากขึ้นนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ประกอบกับในโมร็อกโกยังมีพื้นที่อีกมากที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน  โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของโมร็อกโก และในพื้นที่พิพาทซาฮาร่าตะวันตก (แต่จะมีผลกระทบด้านการเมืองระหว่างประเทศ)

 

นอกจากนี้ โมร็อกโกยังเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง และความมั่นคงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน มีระบบ สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ถนน และทางรถไฟ ที่ดีและทันสมัย ประกอบกับรัฐบาลโมร็อกโกมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่เอื้อกับนักลงทุนจากต่างชาติมากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค

3.2 รัฐบาลโมร็อกโกพยายามที่จะเชิญชวนบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกในประเทศ โดยได้ตั้ง The National Agency for the Development of Renewable Energy and Energy Efficiency (Agence Nationale pour le Dèveloppment des Energies Renouvelables et de l’Efficacitè Energètique – ADEREE) เพื่อกำกับดูแลภาพรวมของนโยบายพลังงานทดแทนในประเทศ และได้ออกกฎหมายส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง Moroccan Agency for Solar Energy (MASEN) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  นอกจากนี้ การลงทุนด้านพลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เป็นภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก Moroccan Investment Development Agency อีกด้วย   

3.3 ปัญหาที่ผู้ประกอบการไทยอาจจะประสบในการเข้ามาลงทุนในด้านพลังงานในโมร็อกโก อาทิ กฏระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ยังมีความซับซ้อน ระบบการเงินการธนาคารที่มีข้อจำกัดอยู่อีกมาก ต้นทุนในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งการแข่งขันจากบริษัทน้ำมันข้ามชาติขนาดใหญ่อีกด้วย

3.4 อย่างไรก็ดี โดยที่รัฐบาลโมร็อกโกมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานภายในประเทศ ทั้งที่เป็นพลังงานน้ำมัน และพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการด้านพลังงานของไทย ยังมีโอกาสในธุรกิจด้านนี้ในโมร็อกโก แต่จะต้องอาศัยการเข้าไปพันธมิตรทางการค้ากับบริษัทต่างชาติรายอื่นๆ หรือการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สนับสนุน หรืออุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก เช่น การผลิตชิ้นส่วน OEM ของเครื่องจักร เพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ดังเช่นในกรณีของ บริษัท Siemens ที่ได้ประกาศลงทุนเปิดโรงงานผลิตใบพัดสำหรับเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานลม (wind turbine) มูลค่า 1.1 พันล้านดีร์ฮามที่เมือง Tangier เป็นต้น