ข้อมูลแนวโน้มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในโมร็อกโก

ข้อมูลแนวโน้มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในโมร็อกโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ส.ค. 2565

| 276 view

ภาคธุรกิจในสาขาการเกษตรและอาหารแปรรูปของโมร็อกโกเป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจที่ยังมีการเติบโตได้ดีแม้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เมื่อปี 2563 โดยนำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับที่ 3 มูลค่า 62.5 พันล้านดีร์ฮาม (หรือประมาณ 218.75 พันล้านบาท) ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารก็เพิ่มขึ้นเช่นกันโดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 7.15 พันล้านดีร์ฮาม (หรือประมาณ 25 พันล้านบาท) โดยสินค้าอาหาร 5 ลำดับแรกที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด คือ น้ำมันถั่วเหลือง (Soybean oil) 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาเขียว 186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินทผาลัม (Dates) 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชีส 101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัลมอนด์ 89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของสินค้าไทยที่นำเข้าในโมร็อกโก มีทั้งสินค้าประเภทข้าวสาร ซอสประเภทต่าง ๆ พริกแกงต่าง ๆ รวมทั้งซอสพร้อมปรุง (เช่น ซอสปรุงผัดไทย) พริกแกงพร้อมปรุง (ที่สามารถเติมเฉพาะเนื้อและผัก) เป็นต้น โดยมีข้าวเป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่อยู่ในอันดับ 2 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดจากไทยไปโมร็อกโก โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 195.61 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 827.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่าการส่งออก 21.08 ล้านบาท)

        

เทรนด์น่าสนใจ

สินค้าเกษตรและอาหารในโมร็อกโกมีการเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเพิ่มจำนวนของร้านค้าประเภท supermarket, hypermarket ของบริษัทต่างชาติ (อาทิ Carrefour) ประกอบกับการขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีความนิยมวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้การจำหน่ายสินค้าอาหารที่บรรจุหีบห่อที่ได้มาตรฐาน รวมถึงอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากรูปแบบการใช้ชีวิตดั้งเดิมที่ชาวโมร็อกโกนิยมซื้อสินค้าอาหารในตลาดสด (หรือ Souk)

โมร็อกโกเริ่มสนับสนุนการผลิตสินค้าอาหารออแกร์นิกตั้งแต่ปี 2529 โดยส่งเสริมการผลิตสินค้าอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติโดยใช้สารปรุงแต่งให้น้อยที่สุด และกระแสความนิยมอาหารประเภทออร์แกนิก gluten-free สินค้าจากธรรมชาติ 100% ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นหลังการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าอาหาร    ออร์แกนิกจากฝรั่งเศส (La Vie Claire) เมื่อปี 2554 โดยมีสินค้ากว่า 4,000 รายการ อาทิ คีนัว เส้นพาสต้า ข้าว นมถั่วเหลือง สินค้าอาหารที่ปราศจากกลูเตนและแลคโตส เป็นต้น

นอกจากกระแสความนิยมอาหารจากธรรมชาติแล้ว อาหารที่ช่วยคุมน้ำหนัก (Diet Style Food) เช่น สินค้าอาหารที่ปราศจากน้ำตาล/สารปรุงแต่ง/ไขมันทรานส์ รวมถึงสินค้าประเภทผักและผลไม้สดก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยมีค่านิยม “Healthy is Wealthy”          

ในส่วนของอาหารเอเชีย มีผู้ประกอบการโมร็อกโกหลายรายที่นำเข้าสินค้าอาหารเอเชียโดยสินค้าอาหารจากเอเชียที่มีลักษณะ Premium จะวางจำหน่ายในชั้นสินค้าอาหารหมวด Bio Products อาทิ สินค้าในเครือของ Blue Elephant ในขณะที่สินค้าอาหารเอเชียอื่น ๆ จะวางจำหน่ายในหมวดสินค้าอาหารทั่วไป

ประเภทสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม กลุ่มเป้าหมายผู้บริโภค

นอกเหนือจากสินค้าอาหารที่เน้นด้านการรักษาสุขภาพแล้ว ยังมีสินค้าอาหารจากเอเชียประเภทต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคในโมร็อกโก อาทิ กะทิกระป๋อง เส้นหมี่ บะหมึ่กึ่งสำเร็จรูป เส้นเล็กแห้ง วุ้นเส้น สาหร่ายแผ่น เห็ดหอม โดยมีร้านจำหน่ายสินค้าเอเชียทั้งในกรุงราบัตและนครคาซาบลังกา ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคและร้านอาหารต่าง ๆ ในส่วนของเครื่องดื่ม นอกจากสินค้าเครื่องดื่มทั่วไป อาทิ น้ำแร่ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำชาบรรจุขวด เครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ยังไม่ค่อยพบเครื่องดื่มประเภท functional drink มากนัก

ผู้บริโภคในโมร็อกโกที่สนใจซื้อสินค้าอาหารเอเชียมักเป็นชาวโมร็อกโกที่เคยเดินทางไปประเทศในเอเชียแล้ว ชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในโมร็อกโก และร้านอาหารเอเชียในโมร็อกโก

ข้อท้าทายสำคัญในการจำหน่ายสินค้าอาหารในโมร็อกโก คือ การเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงสำหรับการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากเอเชีย (ประมาณร้อยละ 60) ในขณะที่การนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สเปน ได้สิทธิพิเศษจากการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่าง EU-โมร็อกโก ทำให้มีราคาสินค้าที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างกว่าและมีประเภทสินค้าที่หลากหลายกว่า อีกทั้งมี supermarket ที่เป็นร้านสาขาแพร่กระจายอยู่จำนวนมาก ทำให้มีช่องทางการจำหน่ายที่กว้างขวางและฐานลูกค้าที่รู้จักสินค้าเป็นอย่างดี

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

แม้ตลาดโมร็อกโกจะเป็นตลาดขนาดเล็ก (ประชากรประมาณ 35 ล้านคน) แต่ก็มีกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อที่ไม่ควรมองข้าม การลดต้นทุนการขนส่งและภาษีศุลกากรจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้นให้มีสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากไทยมาจำหน่ายในโมร็อกโกเพิ่มขึ้น

สินค้าประเภทกึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อีก เช่น ชุดผัดไทยพร้อมปรุง ชุดแกงมัสมั่นพร้อมปรุง ชุดแพนงเนื้อพร้อมปรุง ชุดแกงเขียวหวานไก่พร้อมปรุง ซึ่งสามารถตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารไทย และมีราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย

อาจส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยทำการทดลองตลาดในโมร็อกโกในสินค้าที่ยังมีจำหน่ายไม่มากนัก อาทิ functional drink ที่สามารถตอบสนองเทรนด์การรักษาสุขภาพ โดยอาจใช้แนวทางการให้สินค้าทดลองชิม ซึ่งหากมีผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภค จะได้สามารถพิจารณาหาคู่ค้าเพื่อส่งออกได้ต่อไป

ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งเสริมการตลาดในโมร็อกโกอาจจำเป็นต้องหาพันธมิตรในพื้นที่ซึ่งเข้าใจภาษาท้องถิ่น และความต้องการของผู้บริโภค และอาจต้องพร้อมปรับรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า เช่น ฉลาก คำอธิบายบนบรรจุภัณฑ์ให้เข้ากับผู้บริโภคด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ