- สถานเอกอัครราชทูตฯ รับจดทะเบียนหย่าเฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฏหมายไทยเท่านั้น
- การขอจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะทำได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการหย่าโดยความยินยอมสมัครใจของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น และทั้งสองฝ่ายได้หารือข้อตกลงร่วมกันเพื่อทำการบันทึกในทะเบียนหย่า เช่น อำนาจปกครองบุตรที่เกิดร่วมกัน การแบ่งทรัพย์สิน หรืออาจแจ้งว่า ไม่ประสงค์จะบันทึกรายละเอียดก็ได้
- ผู้ที่ขอจดทะเบียนหย่าทั้งสองฝ่ายจะต้องมาลงลายมือชื่อที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วยตนเอง และมีพยาน 2 คน โดยต้องนำหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชนของพยานมาด้วย
- กรุณาติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อนัดหมายล่วงหน้าทางอีเมล [email protected] หรือหมายเลขโทรศัพท์ 05 37 63 46 03/04 โดยจะต้องส่งเอกสารประกอบให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าทางอีเมล เพื่อตรวจสอบและเตรียมจัดพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า
*สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับจดทะเบียนหย่า หากเอกสารต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกเอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา*
- ไม่มีค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนหย่า
เอกสารที่จำเป็นในการจดทะเบียนหย่า
1. คำร้องขอจดทะเบียนหย่า และหนังสือสัญญาหย่าฉบับจริง (ดาวน์โหลดตามไฟล์ข้างล่าง) ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อเรียบร้อยแล้ว และมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน
2. ต้นฉบับทะเบียนสมรสฉบับจริงของทั้งสองฝ่าย
3. หนังสือเดินทางซึ่งยังไม่หมดอายุของทั้งสองฝ่าย พร้อมสำเนา
4. บัตรประจำตัวประชาชนของทั้งสองฝ่าย พร้อมสำเนา
5. ใบเปลี่ยนชื่อ และ / หรือ นามสกุล (กรณีมีการเปลี่ยน) พร้อมสำเนา
6. พยาน 2 คน พร้อมเอกสารแสดงตัวบุคคล (บัตรประจำตัวประชาชน/ หนังสือเดินทาง / บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้)
หมายเหตุ: กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการหย่า
1. ผู้ร้องนัดหมายมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นการล่วงหน้าทางโทรศัพท์ หรือ อีเมล
2. ในวันนัดหมาย ผู้ร้องทั้งสองฝ่ายต้องไปปรากฏตัวและลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนด้วยตนเอง
การดำเนินการหลังการหย่า
หากฝ่ายหญิงเป็นบุคคลสัญชาติไทย จะต้องไปยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการบุคคล (คำนำหน้าชื่อ นามสกุล ในเอกสารทะเบียนราษฎร์ต่างๆ ทะเบียนบ้านที่ตนมีชื่ออยู่ในประเทศไทย บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทาง) ให้เรียบร้อยโดยเร็ว
สำหรับการทำบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ ผู้ร้องจำเป็นต้องไปดำเนินการด้วยตนเองที่อำเภอที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้านที่ประเทศไทย โดยหลังจากได้บัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่แล้ว ผู้ร้องสามารถทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้
Ouvert du lundi au vendredi de
09h00 – 17h00