ธุรกิจ | Business

ธุรกิจ | Business

ความตกลงด้านการประมงระหว่าง EU และโมร็อกโก

ความตกลงด้านการประมงระหว่าง EU และโมร็อกโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ต.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,157 view

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2556 โมร็อกโกและ EU ได้ลงนามต่ออายุความตกลงด้านประมงอีกครั้ง หลังจากที่ระงับการต่ออายุไปถึง 18 เดือน และได้มีความพยายามเจรจากันถึง 6 รอบ ความตกลงฯ ฉบับนี้มีระยะเวลาบังคับ 4 ปี และอนุญาตให้เรือ EU จำนวน 126 ลำเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ทางทะเลของโมร็อกโก โดย EU ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ทั้งหมด 40 ล้านยูโรต่อปี (ในจำนวนนี้ เจ้าของเรือจะต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่าย 10 ล้านยูโรต่อปี) โดยเป็นเงินให้รัฐบาล และเงินในการพัฒนาประมงในโมร็อกโก  โดยความตกลงฯ ฉบับนี้ มีการกล่าวถึงการสนับสนุนความมั่นคง และการพัฒนาใน Western Sahara ด้วย

สหภาพยุโรปและโมร็อกโกได้ทำความตกลงกรอบความร่วมมือ (Accord d’association หรือ Association Agreement) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2543 โดยเป็นกรอบความร่วมมือใหญ่ที่กำหนดแนวทาง
การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิชาการ และวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในปัจจุบัน โมร็อกโกเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ (partenaire privilégié) ของสหภาพยุโรป และเป็นประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือภายใต้กรอบนโยบายสหภาพยุโรปว่าด้วยเพื่อนบ้าน (Politique européenne de voisinage) มากที่สุด และสหภาพยุโรปเองก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของโมร็อกโก เป็นผู้ลงทุนหลักจากต่างประเทศทั้งในภาครัฐและเอกชนของโมร็อกโก รวมถึงเป็นตลาดท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของชาวโมร็อกโกอีกด้วย

การทำประมงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักโมร็อกโกซึ่งเป็นตลาดสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยภาคการทำประมงมีสัดส่วนร้อยละ 3 ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของโมร็อกโก ทั้งนี้ มีแรงงานจำนวนประมาณ 400,000 รายที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในทางตรงหรือทางอ้อม

 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2549 ประชาคมยุโรปและราชอาณาจักรแห่งโมร็อกโกได้ทำความตกลง ความเป็นหุ้นส่วนด้านการทำประมง[1] (Accord de partenariat dans le secteur de la pêche หรือ APP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 28 ก.พ. 2550 และหมดอายุลงในวันที่ 28 ก.พ. 2554 โดยสหภาพยุโรปได้ต่ออายุ คตล. ฉบับดังกล่าวกับโมร็อกโกอีก 1 ปี เป็นการชั่วคราว



[1] ในบรรดาความตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้านการทำประมงที่สหภาพยุโรปมีกับประเทศต่างๆ ทั้งหมด คตล. ที่มีกับโมร็อกโกจัดอยู่ในอันดับสองในแง่มูลค่าของสัมปทานต่อปีที่สหภาพยุโรปชดเชยให้กับโมร็อกโกตามข้อบทของ คตล. ดังกล่าว