ธุรกิจ | Business

ธุรกิจ | Business

อุตสาหกรรมรถยนต์ของโมร็อกโกกับโอกาสของไทย

อุตสาหกรรมรถยนต์ของโมร็อกโกกับโอกาสของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,911 view

ตามที่รัฐบาลโมร็อกโกได้มียุทธศาสตร์ National Pact for Industrial Emergence ( Pacte National pour l’Emergence Industrielle - PNEI) ซึ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยเน้นอุตสาหกรรม 8 ชนิด คือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อากาศยาน  อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เวชภัณฑ์ เคมี และการเป็นที่ตั้งให้บริษัทต่างประเทศลงทุนตั้งสำนักงานในโมร็อกโก (offshoring)  ซึ่งส่งผลให้การส่งออกของโมร็อกโกขยายตัวมากขึ้นถึงร้อยละ 17.4 ตั้งแต่ปี 2008 และเพิ่ม Foreign Direct Investment ร้อยละ 39 นั้น

                            สอท. ขอเรียนเกี่ยวกับสถานะของอุตสาหกรรมยานยนต์ และยานอากาศในโมร็อกโก ดังนี้

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์ และอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตมากที่สุดในอุตสาหกรรมทั้งหมดของโมร็อกโก ทั้งในแง่มูลค่าการส่งออก และมูลค่าการลงทุนในประเทศ โดยในปี 2013 มูลค่าการส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็น 2.75 พันล้านยูโร และอากาศยานเพิ่มขึ้นร้อยละ 15  เป็น 684 ล้านยูโร จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด ของโมร็อกโก 16.2 พันล้านยูโร และในขณะนี้ มีบริษัทระหว่างประเทศเข้ามาลงทุนในโมร็อกโกมากขึ้น เช่น บริษัท Renaults ซึ่งเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกาเหนือ เพื่อส่งเข้าตลาดยุโรป และตลาดในภูมิภาค โดยได้ลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานประกอบรถยนต์ที่เมืองแทงเจียร์ทางภาคเหนือของโมร็อกโกเป็นโรงงานที่สอง  (ก่อนหน้านี้ได้มีโรงงานใกล้เมืองคาซาบลังกา)  โดยโรงงานที่เมืองแทงเจียร์มีความสามารถในการผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 400,000 คันต่อปี นอกจากนี้ ในปี 2012 บริษัท Bombadier ได้เข้ามาลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเปิดโรงงานประกอบเครื่องบินในโมร็อกโก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการลงทุนเพื่อเปิดโรงงานประกอบเครื่องบิน โดยก่อนหน้านี้ มีบริษัทผลิตเครื่องบิน เช่น บริษัท The Boeing และ The United Technology Cooperation ได้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทโมร็อกโก  เปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องบินในโมร็อกโก 
  2. รัฐบาลโมร็อกโกได้มีแผนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีการตั้ง Free zone สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และเสนอมาตราการทางภาษีให้กับผู้ลงทุน รวมทั้งมีการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าการลงทุน  เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลโมร็อกโกยังได้พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ท่าเรือ ท่าอากาศยาน  ถนน ไฟฟ้า และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติอีกด้วย
  3. โมร็อกโกเป็นประเทศผู้ผลิตรถรายใหญ่ที่สุดในแอฟริกาเหนือ และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในทวีปแอฟริกา รองจากแอฟริกาใต้ โดย PricewaterhouseCooper ได้คาดการณ์ว่าในปี 2017 โมร็อกโกจะเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก
  1. ในปี 2013 โรงงาน Renualts ในแทงเจียร์ผลิตรถยนต์ได้ 170,000 คัน และ 200,000 คันในปี 2014 ภายใต้เครื่องหมายการค้า Darcia ซึ่งยอดที่ผลิตได้นั้นต่ำกว่าความสามารถในการผลิตถึงครึ่งหนึ่ง ทำให้มีการคาดการณ์ว่า บริษัทฯ จะหันไปเน้นการผลิตรถยนต์ราคาต่ำมาก (Ultra low-cost) เพื่อป้อนตลาดในยุโรป  และในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะทำให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น   

ความเห็น  อุตสาหกรรมยานยนต์ และอากาศยานของโมร็อกโกกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน  เช่น ที่ตั้งของโมร็อกโกที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างยุโรป และแอฟริกา  เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจผู้ลงทุน โครงสร้างพื้นฐานซึ่งรัฐบาลโมร็อกโกได้วางไว้เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว และความตกลงด้านการค้าของโมร็อกโกกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะที่มีกับสหภาพยุโรป  ในการนี้  น่าจะเป็นโอกาสของไทย ทั้งในแง่การลงทุน และการขยายตลาด โดยเฉพาะสินค้าชิ้นส่วน และอะไหล่รถยนต์ และสาขาที่เกี่ยวเนื่องในลักษณะการรับช่วงการผลิต (subcontracting)   ซึ่งบริษัทไทยมีความเชี่ยวชาญ และสามารถผลิตได้อย่างมีมาตรฐานและคุณภาพ (และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าสินค้าจากผู้ผลิตรายย่อยของจีน)